Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน

Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน





















Roger Waters – Amused to Death (Parid)

Written by Agent Fox Mulder   
Friday, 30 May 2008


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Written by ภฤศ ปฐมทัศน์
จากเว็บไซต์ประชาไท /
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=7729&Key=HilightNews




เป็นความลำบากที่ฟังดูค่อนข้างส่วนตัว สำหรับคนอย่างผมที่ไม่ค่อยนิยมความบันเทิงจากทีวีและเพลงจากวิทยุกระแสหลักที่ถูกยึดครองโดยค่ายใหญ่สักเท่าไหร่


โชคดีที่ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ต ถึงผมจะเป็นคนไม่ค่อยถนัดเทคโนโลยีนัก แต่ผมก็ได้อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นที่พักใจในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการหาดู Music Video ที่หาดูไม่ได้ในสื่อกระแสหลักจาก Youtube ซึ่งศิลปินสังกัดเล็กๆ หลายคนก็ใช้พื้นที่ตรงนี้เผยแพร่งาน เข้าไปดูข้อมูลหนังทั้งนอกกระแสและในกระแส อ่านข่าว อ่านข้อมูลเรื่องที่อยากรู้ พูดคุยถกเถียงกันในประเด็นที่น่าสนใจตาม Webboard ฯลฯ หากขาดอินเตอร์เน็ตแล้ว ชีวิตสัตว์เมืองท่ามกลางป่าคอนกรีตที่ขยันสร้างทางอุโมงค์ (ใช้เวลา 10 ปี-ยังไม่เสร็จ) มากกว่าสวนสาธารณะนี้ คงอับเฉาน่าดู


แต่มีอยู่วันหนึ่งเมื่อเปิดเข้าสู่อินเตอร์เน็ต ผมก็ได้รู้ว่าหนึ่งแหล่งพักใจของผม ถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ (คิดว่าตน) มีอำนาจเหนือกว่า (คิดว่าตน) รู้ผิดชอบชั่วดีมากกว่า ตัดสิน (แทนคนอื่น) ว่า เป็นที่ที่ไม่เหมาะสมเสียแล้ว ทั้งที่เว็บไซต์นี้มีมิวสิควีดิโอที่หาดูหาฟังไม่ได้ในทีวี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีทางหาดูได้เด็ดขาดในรายการเพลงบ้านเราที่ถูกซื้อเวลาโดยค่ายใหญ่ แล้วผมจะหาดูได้จากไหน ผมถามหน้าจออยู่คนเดียวเหมือนคนบ้า ยุคสมัยนี้ช่างยอดเยี่ยมเสียจริง เราไม่ต้องคิดอะไรเอง ก็มีพวกที่ทำตัวเป็น “พระเจ้า” คิดแทนให้เสร็จสรรพ


 


“God wants silver


God wants gold


God wants his secret


Never to be told”


 


- What God wants (Part 2)


ผมจำใจต้องเปิดโทรทัศน์ดูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หวังว่าอย่างน้อยจะมีอะไรดี ๆ ผ่านหูผ่านตาบ้าง เอาน่า ! สื่อกระแสหลักมันไม่เลวร้ายขนาดนั้นหรอก ลองเปิดใจให้มันอีกสักครั้งดีกว่า


เริ่มต้นกันด้วยโฆษณา...อะไรหว่า...มันจะสื่ออะไรกันแน่ ดมรักแร๊กันใหญ่ แล้วทำไมผู้หญิงในโฆษณานี้ต้องเดินตามรักแร๊กันเหมือนโดนสะกดจิตด้วย แบบนี้ทำให้ผู้หญิงดูเป็นคนโง่นี่นา...เหยียดเพศชัดๆ แล้วไอ่โฆษณานี้ทำไมพ่อของน้องปุยฝ้ายมันดูมีอำนาจเหนือทุกคนในบ้าน แล้วแทนที่มันจะตบลูก ทำไมมันไม่ไปเรียกร้องอะไรจากผู้ชายที่ทำลูกมันหว่า... แล้วทำไมยิ่งดูอะไรพวกนี้แล้วเรายิ่งรู้สึกเหมือนว่าตัวเองขาด? ทำไมต้องมีการให้คุณค่ากันระหว่างประสบความสำเร็จกับล้มเหลว? ใครเป็นคนให้คุณค่า? ต้องใช้รถยี่ห้อนี้แล้วถึงจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น? ต้องกินเบียร์ยี่ห้อนี้แล้วถึงจะเป็นคนไทย? ต้องทำผมแบบนักร้องคนนี้แล้วถึงจะอินเทรนด์? ต้องกระโดดถีบเจ้านายด้วยรองเท้ายี่ห้อนี้ถึงจะดูมีระดับ? เวลาไปตีกอล์ฟต้องใช้ไม้กอล์ฟยี่ห้อนี้แล้วอย่าลืมจับตั๊กแตนเป็นทิปให้แคดดี้จะได้ดูเป็นคนดีมีน้ำใจ? (แคดดี้แอบนึกในใจว่าแถวบ้านตูมีตัวอ้วนกินอร่อยกว่านี้ตั้งเยอะ)


โลกใบนี้ทำให้ผมและใครบางคนที่ไม่หมุนตามกลายเป็นตัวน่าขำ หรือโลกใบนี้เองกันแน่...ที่น่าขำ


“Doctor, Doctor, what is wrong with me


This supermarket life is getting long


what is the heart life of a color TV


what is the shelf life of a teenage queen”


 


-  Amused to Death


ในคราวนี้ผมขออนุญาต ย้อนกลับไปไกลในปี 1992 เพื่อที่จะพูดถึงอัลบั้ม Amused to Death สตูดิโออัลบั้ม งานเดี่ยวของ Roger Waters ที่ออกในปีนั้น



Roger Waters เป็นอดีตมือเบส, นักแต่งเพลง, นักร้อง (ร่วมกับ David Gilmour) แห่งวง Pink Floyd โดยเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับวงมากในช่วงอัลบั้ม Dark Side of the Moon (1973) มาจนถึง The Final Cut (1983) ก่อนจะถูกขับออกจากวงไป


ช่วงที่อยู่ใน Pink Floyd นั้น Waters ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันคอนเซปท์ ทำให้เนื้อหาของเพลงต่างๆ เข้าไปสู่ความลุ่มลึกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีลักษณะกึ่งๆ เพลงประท้วง ที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์สังคมโลก อย่างในอัลบั้ม Dark Side of the Moon ก็มีเพลง Us and Them ที่พูดถึงสงคราม (แบบอ้อมๆ) และการแบ่งเขาแบ่งเรา เพลง Welcome to the Machine กับ Have a Cigar ในอัลบั้ม Wish You Were Here (1975) ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์วงการดนตรี Rock ที่ช่วงหนึ่งทำให้วัยรุ่นเพ้อฝันอยู่แต่กับความเป็น Rock Star และถูกหลอกเข้ามาอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมดนตรี


อัลบั้มที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองโดยได้รับอิทธิพลจากเรื่อง Animal Farm อย่าง Animals (1977) เรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้ไม่อาจทนเผชิญความเลวร้ายของโลก จนต้องขังตัวเองอยู่ในกำแพง ก็ได้เล่าผ่านอัลบั้ม Rock Opera ที่เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนมาแล้วอย่าง The Wall (1979) และอัลบั้มที่ Waters เข้ายึดครองพื้นที่การทำงานของวง จนแทบเรียกได้ว่าเป็นงานเดี่ยวของ Roger Waters นั่นคืออัลบั้ม The Final Cut (1983) ที่พูดถึงสงครามทั้งอัลบั้ม โดยเฉพาะสงคราม Falkland ในสมัยของ Margaret Thatcher


นอกจากงานที่ผ่านออกมาในฐานะของ Pink Floyd แล้ว Roger Waters ยังคงทำงานเดี่ยวหลังออกจากวงมา โดยยิ่งทำให้เขานำความเป็นตัวเองไปใช้ในเนื้อหาและดนตรีได้อย่างเต็มที่ หากคิดว่าเนื้อหาจาก Pink Floyd ในยุคของเขาหนักหนา มืดหม่น และซีเรียสแล้ว อัลบั้มเดี่ยวของเขาก็ซีเรียสไม่แพ้กัน เผลอๆ บางเพลงจะซีเรียสยิ่งกว่า แน่นอนว่าเพลงของ Roger Waters ไม่ใช่เพลงจำพวกเอนหลังฟังสบาย แต่เป็นเพลงประท้วง ที่อาศัยเพิ่มเติมความซับซ้อนของดนตรี Progressive เข้าไป ถึงแม้ว่าแฟนๆ Pink Floyd หลายคนจะให้ความเห็นว่า Roger Waters ดูจะไม่ถนัดเรื่องเมโลดี้เอาเสียเลย แต่ก็เด่นในองค์ประกอบทางดนตรีด้านอื่นๆ เช่นการใช้ เอฟเฟกท์ต่างๆ รวมถึงซาวน์ Ambient แบบอวกาศที่ได้มาจาก Pink Floyd


Amused to Death เป็นผลงานที่หลายคนบอกว่าดีที่สุดในบรรดางานเดี่ยวของเขา โดยในอัลบั้มนี้ได้มือกีต้าร์ Jazz Fusion อย่าง Jeff Beck มาช่วยเล่นในบางเพลง ซึ่งเขาทำได้ดีมากในโซโล่เพลง “What God Wants (Part 3)” และการเล่นสร้างบรรยากาศในเพลงเปิด “The Ballad of Bill Hubbard” อัลบั้มนี้มีการใช้เทคโนโลยี QSound มาช่วยในการทำ Sound Effect ประกอบเพลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องบิน เสียงระเบิด แม้กระทั่งเสียงหมาเห่า ที่มีคนบอกว่าฟังดูเหมือนได้ยินมาจากข้างบ้าน!?


ชื่ออัลบั้มนี้ได้มาจากชื่อหนังสือ “Amusing Ourselves to Death” ของ Neil Postman (1985) ตัวหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงอิทธิพลของสื่อต่อวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งมักมีสัญญะ ความหมายแฝงมาพร้อมกับความบันเทิง ทำให้ส่งผลกระทบต่อค่านิยม วัฒนธรรม มนุษย์สมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื้อหาของอัลบั้มนี้ก็พูดถึงเรื่องเดียวกัน โดย Roger Waters ได้ใช้เนื้อหาแบบ Conceptual album (อัลบั้มที่เนื้อหาของทุกเพลงเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องกันหมด) พูดถึงลิงตัวหนึ่งที่เปลี่ยนช่องทีวีไปมา และก็ได้พบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมายผ่านหน้าจอ


ไม่ว่าจะเป็น ภาพสงครามที่ถูกทำให้เป็นเหมือนเกมส์โชว์สนุก ๆ ใน Perfect Sense (Part 2) ซึ่ง Waters ได้อาศัย Marv Albert ผู้ประกาศชาวอเมริกันมาช่วยพูดบทสคริปท์ บวกกับการร้องคอรัส ทำให้อารมณ์ของเพลงฟังดูคล้ายเป็นทั้งเกมส์โชว์และเพลงปลุกใจในเวลาเดียวกัน



ต่อด้วยเพลงที่มีชื่อฟังดูประชดประชัน อย่าง The Bravery of Being out of Range แปลตรงตัวได้ว่า “ความกล้าหาญของการอยู่นอกสมรภูมิ” ได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำทั้งหลาย ไม่ว่าผู้นำทหาร หรือผู้นำทางการเมือง ที่ดีแต่ส่งทหารชั้นผู้น้อยไปตาย หรือใช้ประชาชนเป็นเกราะกำบัง เกียรติยศ, ตำแหน่ง, ตัวเลขบัญชีในธนาคาร รวมถึงความคลั่งชาติไม่ลืมหูลืมตา ของตน


 


“We play the game


With the bravery of being out of range


We zap and maim


With the bravery of being out of range


We strafe the train


With the bravery of being out of range


We gained terrain


With the bravery of being out of range”


 


-   “The Bravery of Being out of Range”


อัลบั้ม Amused to Death ออกมาตั้งแต่ปี 1992 จึงดูเหมือนไม่อาจพูดถึงประเด็นใหม่ๆ ของสถานการณ์โลกปัจจุบันได้ กระนั้น ถึงแม้อัลบั้มนี้ส่วนหนึ่งจะพูดถึงสงครามอ่าวตั้งแต่สมัยบุชรุ่นพ่อ แต่เนื้อหาต่างๆ ยังชวนให้รู้สึกว่ามันไม่พูดถึงอะไรเก่า ๆ เลย หรืออาจเป็นเพราะว่า โลกเรามันไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา วัฏจักรของสงคราม ความโลภ ความกระหายอำนาจ ยังดำเนินอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะรุ่นพ่อหรือรุ่นลูกก็ตาม


ใครหลายคนที่มีโอกาสได้ฟังอัลบั้มนี้แล้วอาจนึกถึงอัลบั้ม The Final Cut ก็ไม่แปลก เพราะนอกจากเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม และเรื่องราวการกดขี่มนุษย์ด้วยกันแล้ว ในภาคดนตรีเองเพลง Late Home Tonight (Part 1, Part 2) ก็มีเสียงแตรที่ใช้ในกองทัพ แบบเดียวกับบางเพลงใน The Final Cut แต่ขณะที่ทหารใน The Final Cut เต็มไปด้วยรู้สึกผิดชอบชั่วดีและหวังว่าจะไม่มีเด็กเป็นเหยื่อของสงครามมากขึ้นไปกว่านี้ ทหารในอัลบั้ม Amused to Death กลับดูเหมือนจะถูกล้างสมองโดยระบบการฝึกของทหาร ให้หลงไปกับลาภยศ ความเป็นวีรบุรุษจอมปลอม ไม่รู้ดีรู้ชั่ว และไม่มีความรู้สึกผิดอีกต่อไปแล้ว


 


“Secure in the beauty of military life


There is no right or wrong


Only tin cans and cordite and white cliffs


And blue skies and flight flight flight”


 


-  Late Home Tonight (Part 1)


ผมรู้สึกว่าคนที่ดูทีวีได้ทั้งวันต้องมีความอดทนสูงแน่ๆ ไม่ใช่แค่อดทนกับการกระตุ้นเร้าตื่นตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอดทนกับสิ่งน่ารำคาญอื่นๆ เอาล่ะ ผมมีรีโมทในมือ ผมมีเสรีที่จะเลือกเปลี่ยนช่องได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าช่องไหนๆ ก็เหมือนกันไปหมด !! มาช่องนี้ข่าวการปฏิเสธการเป็นคู่ควงของดารา คนนั้นไปเดินกับคนนี้ คนนี้ไปวิ่งกับคนนั้น คนโน้นไปมุดท่อระบายน้ำกับคนนู้น อีกช่องหนึ่งก็ อุ้ย ! ดูสิไปเลี้ยงขนมเด็กด้วย ใจดีจังเลย ทีป้าคนหนึ่งแอบซื้อกับข้าวดีๆ มาเลี้ยงหมาจรจัดในมหาวิทยาลัยของผมทำไมไม่เห็นเป็นข่าวเลย อ๊ะ! นักร้องคนนั้นไปบีบสิวมา อ้าว! นักร้องสาวคนนี้ทำไมใส่อะไรน้อยชิ้นอย่างนี้ ยั่วจริงๆ (ไม่มีใครคิดบ้างเหรอว่าเธออาจจะแค่ร้อนก็ได้ อากาศแบบนี้ใครจะบ้ามาใส่กระโปรงสุ่มไก่)


เอ้อ! ช่องนี้มีรายการชื่อฟังดูประเทืองปัญญา อืม! ไหน-ไหน การ์ตูนถูกแบนอีกแล้ว แย่จังการ์ตูนเสริมสร้างความรุนแรงแบบนี้ (แต่ก็ชอบฉากตบจูบในละครหลังข่าวนะ) เดี๋ยวขอส่ง SMS ไปแสดงความเห็นก่อนดีกว่า “ไม่ดีเลย เยาวชนสมัยนี้” พิธีกร (เพิ่งทะเลาะกับเมียที่บ้านมา) ก็ช่วยกันด่าระบายอารมณ์ เอ้ย! ช่วยกันวิจารณ์เยาวชนสมัยนี้แทนเรา ดีจริงๆ เลย เอ...วันนี้มีรายการ Singularity นี่นา จะเอาอะไรมาประจานอีกหว่า... แม่ใจยักษ์ ทิ้งเด็กอีกแล้วไม่ดีเลย เป็นแม่ก็ต้องทำหน้าที่แม่สิ (ไม่ต้องไปโทษพ่อมันหรอก ก็ข่าวมันนำเสนอแต่แม่นี่นา)


ฯลฯ


...ผมเริ่มปวดหัว เอื้อมมือไปปิดทีวี


เพลงที่พูดถึงสื่อโทรทัศน์อย่างตรงไปตรงมาคือเพลง Watching TV. เพลงนี้ได้ Don Henley จากวง The Eagles มาร่วมร้องกับ Waters ทำให้ฟังดูเข้ากับเสียงกีต้าร์อะคูสติกสที่คลอไปตลอดเพลง เนื้อหาของเพลงนี้คล้ายหนังซ้อนหนัง โดยเล่าว่า “พวกเรากำลังดูทีวี” และในทีวีเองก็เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้ในเหตุการณ์ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีน ภาพลักษณ์ของผู้หญิงคนนี้ถูกขับออกมาให้ดูเด่นกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่ผู้ชุมนุมในที่นั่นไม่ได้มีแต่ผู้หญิงคนนี้คนเดียว อีกทั้งความตายของหญิงคนนี้ในหน้าจอทีวียังดูเป็นโศกนาฎกรรมบันเทิง มากกว่าจะทำให้ “พวกเรา” ในเนื้อเพลงฉุกคิด ตั้งคำถามและรู้สึกอยากลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการทำให้โลกนี้ดีขึ้นแต่อย่างใด



ตามด้วยเพลงเศร้าๆ ที่พูดถึงการหันมาสำรวจความรู้สึกภายในของปัจเจกบุคคลอย่าง Three Wishes เพลงนี้เล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่ถูกแม่ทิ้งไว้ แต่แทนที่จะพากันประณามแม่ของเด็กว่าเป็นแม่ใจยักษ์เช่นที่สื่อบ้านเราชอบทำ เพลงนี้กลับแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในการไม่มีทางเลือกของผู้เป็นแม่ และเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น เขาได้รับสิทธิที่จะขอพรได้สามข้อ หลังจากที่เขาขอพรทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นแล้ว เขากลับรู้สึกไม่มีความสุข เพราะเขาลืมข้อที่สำคัญที่สุดไป ข้อนั้นคือการขอให้แม่ของเขากลับมา ซึ่งมันก็...สายเกินไปเสียแล้ว...


 


“There's something in the air


And you don't know what it is


You see someone through the window


Who you've just learned to miss


And the road leads on to glory but


You've used up your last wish


Your last wish


And you want her to come home”


 


-  Three Wishes


It’s a Miracle เป็นเพลงที่เรียบเรียงได้ดีมาก ทั้งเสียงประสาน เสียงเปียโน การเปลี่ยนจังหวะโดยไม่รู้สึกสะดุด ให้ความรู้สึกขัดแย้งทั้งความชมชอบ ความกลัว ความวิเศษ และ ความมืดหม่น กลมกลืนกันอยู่ในเพลง เนื้อหาพูดถึงความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์ แต่ความมหัศจรรย์นั้นก็มีทั้งด้านที่สร้างสรรค์และด้านที่สร้างความเจ็บปวด ทั้งต่อสิ่งรอบข้างและต่อตนเอง


มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอ มีทั้งพลังสร้างสรรค์ และพลังในการทำลาย มีทั้งความกระหายอยาก และความปรารถนาดีต่อกัน มนุษย์ต่างหาที่ยึดเหนี่ยวเมื่อยามเคว้งคว้าง หากสิ่งที่มนุษย์ยึดเหนี่ยวนั้นนำมาซึ่งความสงบสุข ความหวังดีต่อกัน ไร้การกดขี่ ปิดบัง หลอกลวง นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดี หากแต่แสงสว่างที่นำทางมนุษย์ในปัจจุบันนั้น บอกได้ไม่ยากนักว่าคือแสงที่มาจากการควบคุมของคนบางกลุ่ม เป็นแสงลวงทำให้สงครามความสูญเสียกลายเป็นเรื่องบันเทิง นำเสนอตอกย้ำค่านิยมที่เต็มไปด้วยมายาคติ สร้างและเสริมความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้แน่นหนา ปิดหูปิดตา บดบัง หลอกลวง ให้ประชาชนจมอยู่ในวังวนของการตอบสนองต้องการแบบฉาบฉวยชั่วยาม จะได้กลายเป็นประชาชนเลี้ยงเชื่อง ไม่ต่อกรกับอำนาจใดๆ


Waters ได้พูดถึงการล่มสลายของมนุษยชาติไว้ใน Title Track “Amused to Death” ว่า มันไม่ได้เกิดจากเอเลี่ยนหรือสัตว์ประหลาดในหนังฮอลลิวูดที่ไหน แต่มันคือ การที่มนุษย์อยู่ในวังวนของความสุขฉาบฉวย ละเลยคุณค่าทางจิตวิญญาณ คุณค่าความงามทางศิลปะ กดขี่ผู้ที่อ่อนแอกว่า จำกัดอิสรภาพ ไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากการที่มนุษย์กระทำต่อกันเอง ให้ล่มสลายสูญสิ้นไปอย่างช้าๆ และ...อย่างน่าหัวร่อ


“We watched the tragedy unfold


We did as we were told


We bought and sold


It was the greatest show on earth


But then it was over


...


This species has amused itself to death


Amused itself to death”


 


-          Amused to Death


อัลบั้ม Amused to Death ของ Roger Waters พาเราเดินทางเข้าไปสำรวจด้านเลวร้ายของมนุษยชาติ ด้วยเสียงดนตรีที่มีกลิ่นอวกาศเวิ้งว้างแบบเดิมของ Pink Floyd ผสมผสานกับวัตถุดิบใหม่ๆ เพลงของ Roger Waters อาจเต็มไปด้วยการมองโลกในแง่ร้าย พูดถึงความเจ็บปวด แต่การเดินทางในครั้งนี้ยังไม่ถึงทางตัน


มนุษยชาติยังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลง...


http://www.thaiprog.net/home/index.php?option=com_content&task=view&id=89&Itemid=107



Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


Roger Waters – Amused to Death: ในยุคที่แสงประดิษฐ์นำทางผู้คน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์