ประวัติเส้นทางรถไฟสายมรณะ

“หากนับหมอนหนุนรางรถไฟมีเท่าไหร่ จำนวนผู้คน-เชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายนี้ก็ตายไปเท่านั้น”
       
       นี่คือคำเล่าขานถึงเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า ระยะทางกว่า 415 กิโลเมตรนี้ คือ ความหฤโหด ทารุณ และยากลำบาก ของสิ่งที่เชลยศึกได้รับ จนได้รับการขนานนามว่า “เส้นทางรถไฟสายมรณะ”
       
       ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 สงครามแปซิฟิกเริ่มก่อตัวขึ้น กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกาะฮาวาย และบุกเข้ามาเลเซีย ตอนกลางปี 2485 จากนั้นกองทัพญี่ปุ่นต่อสู้กับกองทัพอังกฤษในพม่า แต่เป้าหมายหลักคือรุกรานเข้าอินเดีย
       
       แต่ญี่ปุ่นรู้ดีว่าถ้าใช้เส้นทางเดินเรือขนอาวุธยุทโธปรณ์นั้น เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางอากาศ จึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟตัดผ่านประเทศไทย ที่ในขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เริ่มต้นจากบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่าน จังหวัดกาญจนบุรีไปสู่ชายแดนไทยพม่าตรง “ด่านพระเจดีย์สามองค์” ไปเมืองตันบีอูซายัดในพม่า
       
       งานก่อสร้างในตอนแรกใช้แรงงานกรรมกรที่รับจ้างด้วยความสมัครใจ แต่เนื่องจากต้องเผชิญกับความยากลำบาก โรคระบาด ทำให้กรรมกรต้องเสียชีวิตในการก่อสร้างนับหมื่นคน และพากันละทิ้งงานจำนวนมาก
       
       เมื่อเกิดปัญหาคนไม่พอเพียง กองทัพญี่ปุ่นจึงระดมแรงงานจากเชลยศึกที่เป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ ดัตท์ และอเมริกัน ประมาณ 60,000 คน ทำการก่อสร้างต่อไป จนทางแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2486 รวมระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 10 เดือนเท่านั้น !!!
แต่ญี่ปุ่นต้องสังเวยชีวิตของบรรดาเชลยศึก ของฝ่ายพันธมิตรกว่า 12,599 ราย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ามีแรงงานที่เป็นพลเรือนเสียชีวิตราวๆ 80,000 คน นับๆดูแล้วเกือบแสน!!!
       
       สาเหตุที่ทำให้คนตายเยอะขนาดนี้ เห็นจะมาจากการขาดแคลนอาหารที่เชลยจะได้กินเพียงข้าวกับปลาแห้งเพียงเล็กน้อย แพทย์ก็ไม่พอเพียง และยังได้รับการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายจากผู้คุมเชลยศึกและผู้ควบคุมทางรถไฟ
       
       แต่แล้วเมื่อทางรถไฟเสร็จ ญี่ปุ่นไม่มีแม้แต่โอกาสได้ใช้เส้นทางสายนี้ ด้วยว่าต้องยอมจำนนต่อสงครามที่พ่ายแพ้ เพราะระเบิดปรมาณูของฝ่ายพันธมิตรได้ทำลายเมือง ฮิโรชิมา และ นางาซากิ อย่างย่อยยับ จึงต้องยอมเซ็นสัญญาสงบศึก ในวันที่ 11 สิงหาคม 2488
       
       เมื่อสงครามสิ้นสุดลง การรถไฟแห่งประ เทศไทย ได้ขอซื้อเส้นทางรถไฟสายนี้จากพันธมิตรเป็นจำนวนเงินถึง 50 ล้านบาท ส่วนที่ถูกระเบิดพังเสียหายภายในช่วงสงคราม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซ่อมแซมสะพานให้ใหม่เพื่อเป็นการใช้หนี้สงคราม
       
       มาวันนี้ทางรถไฟสายมรณะผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนอายุครบ 60 ปีเต็ม สภาพของเส้นทางก็ย่อมก็เปลี่ยนแปรไปตามกาลเวลา แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ
       
       สงครามไม่เคยให้อะไรนอกจากความสูญเสียเท่านั้น!!!


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์