พักผ่อน.........ฟังเพลงพื้นเมืองล้านนา









 ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

อัลบั้มทั้งสี่ชุดของปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร


ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

คุณค่างานศิลป์ ถิ่นแว้นแคว้นแดนดินลานนา


ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

อัลบั้ม ชุดประทีปพันดวง


ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

อัลบั้ม ชุดเพลงพิณเปี๊ยะ


ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

อัลบั้ม ชุดคีตลานนา


ปี๋ค้ำหล้า-ธัญยพร

อัลบั้ม ชุดมนต์เสน่ห์เขลางค์นคร












 
 
   
“งามหนอไหนมาเปรียบปาน....สายลมพลิ้วพัดผ่าน กาสะลองดอกน้อยกลีบบาน หอมนวลกรุ่นอวลซาบซ่าน ดังวิมานเพลงพิณ ใจข้าเจ้าถวิล โบกโบยบินคิดถึง บอกเมฆขาว ลมหนาวตราตรึง เสียงพิณปานสายซาบซึ้ง เฝ้ารำพึงถึงเธอ...”

ส่วนหนึ่งจากบทเพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ” ที่แต่งคำร้อง/ทำนอง โดย “คำหล้า ธัญยพร” ซึ่งเป็นบทเพลงไทยพื้นบ้านภาคเหนือยอดเยี่ยม “รางวัลพระพิฆเนศทอง พระราชทาน” ครั้งที่ 6...(สามารถคลิกฟังบทเพลง "เพลงพิณเปี๊ยะ" ได้ที่มุมขวาบน)

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในงาน “เซรามิกแฟร์” แห่งเมืองรถม้า “ลำปาง” ในขณะที่ผมกำลังเดินเลือกซื้อแก้วกาแฟตราไก่อยู่เพลินๆ หูก็แว่วเสียงเพลงล้านนาที่มีเสียงเกากีตาร์ใสๆ และเสียงร้องใสๆ ของนักร้องสาวดังมาจากที่เวทีหน้าทางเข้า

งานนี้ผมรีบเลือกซื้อแก้วกาแฟ พร้อมกับเดินตามไปดูว่าเจ้าของเสียงเพลงกลิ่นอายล้านนาอันไพเราะเพราะพริ้งที่ “โดนใจ” (ผม) นั้นเป็นฝีมือของใครกัน

“คำหล้า ธัญยพร” เธอคือเจ้าของบทเพลงคนนั้น ที่เธอทั้งร้องและเล่นกีตาร์ (คนเดียว) สอดประสานกันไปได้อย่างไพเราะและลงตัว แถมภาษาที่ใช้ในบทเพลงนั้นสละสลวยน่าฟังมากๆ

ครั้นพอเธอเล่นจบด้วยความที่ยังติดใจในบทเพลงของเธอ ผมจึงเดินเข้าไปซื้อซีดีเพลงของเธอ พร้อมๆ กับถือโอกาสพูดคุยกับคำหล้าไปในตัว ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมทึ่งก็คือบทเพลงทั้ง 2 อัลบั้มนั้นเธอทำเองขายเอง แถมยังแต่งเนื้อร้องและทำนองเองกว่า 90 %

แต่กับสิ่งที่ทำให้ผมทึ่งยิ่งกว่าก็คือ เส้นทางชีวิตของเธอที่อุทิศให้กับดนตรีล้านนา ที่แม้ว่าจะต้องประสบกับอุปสรรคมากมาย แต่ว่าคำหล้าก็ยังคงสู้ไม่ถอยเพื่อดนตรีล้านนาที่เธอรัก ซึ่ง ณ วันนี้ดนตรีล้านนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณเธอไปแล้ว...

คำหล้า หรือ “ธัญยพร อุตธรรมชัย” ได้เล่าถึงเส้นทางดนตรีของเธอให้ผมฟังหลังจากที่เราพูดคุยกันว่า เธอหัดเล่นกีตาร์เพราะความบังเอิญในสมัยเมื่อยังเป็นเด็กประมาณ ป.4 ที่บ้านของเธอเป็นร้านตัดผม โดยช่วงนั้นพี่สาวของคำหล้า 3 คนกำลังเข้าสู่วัยแรกรุ่น อันเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ ในหมู่บ้านหลายๆ คน

หนุ่มๆ เหล่านั้นต่างก็แวะเวียนเทียวไล้เทียวขื่อมาจีบพี่สาว ซึ่งมีบางคนเลือกใช้วิธีการเข้าทางน้องสาวคือคำหล้า ด้วยการทำทีหาเรื่องมาสอนกีตาร์ให้ พอได้จังหวะก็โดดไปจีบพี่สาว ซึ่งมีคนใช้วิธีนี้กัน 2-3 คน ทำให้อานิสงส์การจีบพี่สาวของหนุ่มๆ ตกมาถึงคำหล้า คือแทบทุกเย็นจะมีหนุ่มๆ มาสอนเธอเล่นกีตาร์ และทำให้เธอเล่นกีตาร์เป็นขึ้นมาอย่างไม่ยากเย็น

“เพลงแรกที่คำหล้าหัดเล่นก็คือเพลง “Why do I Love You so” จากนั้นก็เล่นดนตรีเรื่อยมา จนไปเรียนอยู่ที่มหา'ลัยรามคำแหง คำหล้าก็ได้เล่นดนตรีหากินอย่างเป็นจริงเป็นจัง” คำหล้าเล่าให้ผมฟัง

สมัยนั้น (10 กว่าปีที่แล้ว) คำหล้าเล่นเพลงทั่วไปตามสมัยนิยม แต่ว่าด้วยความที่เธอมีสายเลือดล้านนาโดยกำเนิด (คำหล้าเกิดที่เชียงราย แล้วย้ายไปอยู่แพร่ พะเยา (เริ่มหัดเล่นกีตาร์) ไปเรียนที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่ลำปาง) ทำให้วิถีแห่งล้านนากับวิถีชีวิตเธอผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก

นอกจากนี้คำหล้ายังเป็นคนที่หลงใหลในเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงเธอยังชื่นชอบบทเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ผู้ล่วงลับเป็นพิเศษ ซึ่งคำหล้านับถือจรัลเป็นหนึ่งในครูเพลงล้านนาคนสำคัญ โดยสิ่งที่เธอยังภาคภูมิใจอยู่จนทุกวันนี้ก็คือเธอได้มีโอกาสร่วมร้องเพลง “น้อยใจยา” กับจรัลในคอนเสิร์ต “พ่อจ๋าแม่จ๋าหนูหนาวจัง” ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ซึ่งคำหล้าถือเป็นผู้หญิงคนสุดท้ายที่ร้องเพลงน้อยใจยา คู่กับจรัล มโนเพ็ชร

แล้วด้วยความที่วิถีความเป็นล้านนาได้ซึมลึกเข้าในสายเลือด คำหล้าจึงใช้เวลา 3 ปีตั้งหน้าตั้งตาเขียนเพลงเพื่อนำเสนอเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว และวิถีชีวิตแห่งล้านนา ผ่านบทเพลงโฟล์กซองคำเมืองที่มีความงดงามในภาษา ตลอดจนดนตรีใสๆ ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนาอย่างขลุ่ยหลิบ ปี่จุม พิณเปี๊ยะ กลองปู่จา ก่อนที่คำหล้าจะตัดสินใจเดินเข้าหานายทุนเพื่อออกอัลบั้มแรกของตัวเอง ในชื่อชุด “เพลงพิณเปี๊ยะ”

แต่ก็เหมือนดังนรกชัง สวรรค์แกล้ง อัลบั้ม “เพลงพิณเปี๊ยะ” ขายไม่ออก แถมนายทุนยังเอาเปรียบเธอเรื่องสัญญาอีก

เมื่อความอดทนถึงขีดสุด คำหล้าเลือกฉีกสัญญายอมหาเงินใช้หนี้ โดยเธอขอนำงานเพลงชุดพิณเปี๊ยะออกวางขายเอง

“ชีวิตช่วงนั้นมี 2 ทางเลือก คือจะทำต่อหรือจะเลิก แต่คำหล้าเลือกที่จะทำต่อเพราะว่านี่คือความฝันของเรา และก็ทำมาถึงขนาดนี้แล้ว คำหล้าจึงออกตระเวนขี่รถเครื่องสะพายกีตาร์เล่นดนตรี สำหรับชีวิตช่วงนี้ลำบากมากนอกจากต้องอดมื้อกินมื้อแล้วยังต้องระหกระเหินเดินทางเกือบทุกวันไปในเส้นทางลำปาง-เชียงใหม่ ที่ทั้งเปลี่ยว ทั้งน่ากลัว ขึ้นเขาลงเขา บางวันก็ต้องขี่รถฝ่าสายฝนเปียกโชก และทุกครั้งที่พอถึงดอยขุนตานก็จะแวะกราบไหว้เจ้าพ่อขุนตาน ขออย่าให้เกิดอุบัติเหตุ ขอให้งานสำเร็จไปด้วยดี และขอให้งานเพลงขายได้ด้วย” คำหล้าเล่ามรสุมชีวิต

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าหลังจากนั้นมา สวรรค์มีตา ฟ้ามีใจ อัลบั้มเพลงพิณเปี๊ยะขายได้เรื่อยๆ ทำให้เธอมีเงินมาใช้หนี้ และมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างในภาคเหนือ และด้วยความที่คำหล้าได้กำลังใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ในแวดวงเพลงล้านนา เธอจึงหาเงินมาทำอัลบั้มที่สองต่อ นั่นก็คือ อัลบั้ม “มนต์เสน่ห์เขลางค์นคร” ที่นำเอาเรื่องราวน่าสนใจของเมืองลำปางมาเรียงร้อยเป็นบทเพลง ไม่ว่าจะเป็น นิราศพระธาตุลำปางหลวง รถม้าม่วนใจ๋ ถ้วยก๋าไก่ เอื้องหลวงขุนตาน แอ่วเขลางค์นคร

ดูเหมือนว่าชีวิตหลังการทำอัลบั้มที่ 2 ของคำหล้าจะดีขึ้น เพราะว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่และหลายหน่วยงานในลำปางเริ่มเห็นคุณค่าให้การสนับสนุนสปอนเซอร์คำหล้ามากขึ้น ส่วนตามโรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือก็นิยมนำงานเพลงของเธอไปใช้ประกอบการเรียนการสอน ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในภาคเหนือ

ซึ่งในช่วงที่ผมเจอกับคำหล้าเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น เธอเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงภาคเหนือพอสมควร แต่ว่าชีวิตของคำหล้านั้นก็ยังคงตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์เล่นดนตรีขายแผ่นซีดีเหมือนเดิม...

หลังจากซื้อเพลงของคำหล้ามาฟังได้ไม่นานผมก็แทบลืมซีดีเพลงของเธอไปเลย และยิ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาผมถูกทีวี วิทยุ เปิดเพลง “ไว้ใจได้กา” ของ “ลานนา คัมมินส์” กรอกหูอยู่เป็นประจำ ทำให้ผมลืมเพลงของคำหล้าไปเสียสนิท

จนเมื่อในคืนวันนัดชิงเอฟเอคัพระหว่างแมนฯ ยู กับอาร์เซนอล เมื่อคืนวันที่ 21 พ.ค. ในขณะที่รอชมการถ่ายทอดสดทางทีวีช่องหนึ่ง ผมก็เปลี่ยนทีวีไปอีกช่องแก้เซ็ง ซึ่งช่องนั้นกำลังเริ่มถ่ายทอดการประกาศผล “รางวัลพระพิฆเนศทอง พระราชทาน” อยู่พอดี

โดยในช่วงที่ผมเปลี่ยนช่องไปดูนั้น ผมเห็นคำหล้าเธอเดินขึ้นไปรับรางวัล “เพลงไทยพื้นบ้านภาคเหนือยอดเยี่ยม” ในบทเพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ” ซึ่งเพลงของเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงในรางวัลนี้ถึง 3 เพลง คือ เพลงพิณเปี๊ยะ (ได้รับรางวัล) ล่องสะเปา และ วิถีคนเมือง

และนั่นก็เป็นการจุดอารมณ์ให้ผมไปหยิบเพลงของคำหล้ามาฟังอีกครั้ง

ครั้นเมื่อได้โอกาสเหมาะผมก็โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับเธอ ซึ่งคำหล้าได้บอกว่านี่คือรางวัลสูงสุดในชีวิตของเธอที่ได้รับเป็นรางวัลที่เธอภูมิใจมาก นับว่าสิ่งที่เธอทุ่มเททำไปนั้นไม่สูญเปล่า

ส่วนสิ่งที่ผมฟังแล้วรู้สึกหัวร่อไม่ได้ ร่ำไห้มิออก ก็คือพอคำหล้าได้รางวัลก็มีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ตอนนี้กำลังเล็งเจาะตลาดเพลงภาคเหนือเข้ามาชักชวนเธอไปสังกัดค่าย โดยจะให้คำหล้าไปเป็นคนแต่งเพลงป้อนให้นักร้อง ซึ่งทางค่ายนั้นได้ส่งแมวมองหานักร้องไว้แล้ว ส่วนคำหล้านั้นเมื่อเธอเกิดมาไม่สวยก็ให้เป็นคนเบื้องหลังก็แล้วกัน

แต่กับสิ่งที่น่ายินดีก็คืองานนี้คำหล้าเธอไม่ยอมเดินเข้าค่ายเพลง (ใหญ่) ซึ่งถึงแม้ว่าจะมันจะทำให้เธอมีเงินใช้และมีความอยู่ที่สบายขึ้น แต่คำหล้าเลือกที่จะมาใช้ชีวิตลำบากทำเพลงเอง ตระเวนขายเพลงเองมากกว่า โดยล่าสุดช่วงที่ผมคุยกับเธอ คำหล้าเพิ่งประสบอุบัติเหตุขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งซีดีเพลงแล้วพอดีถูกรถเก๋งเปิดประตูเข้ามาชน ทำให้เธอต้องไปนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเสียหลายวัน แต่กระนั้นเธอก็ยังยืนยันการทำเพลงที่ไม่อิงกับกระแสธารธุรกิจอย่างบ้าคลั่งจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเหมือนเดิม

“เมื่อเข้าค่ายเพลงเราจะถูกนายทุนกำหนดชีวิตและการทำงานของเรา สู้อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องอดบ้างแต่ว่าคำหล้าก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราฝัน สิ่งที่เรารัก”

นั่นคือสิ่งที่คำหล้าบอกกับผม นอกจากนี้คำหล้ายังบอกอีกว่า ส่วนหนึ่งที่วงการเพลงล้านนามีการพัฒนาช้า ก็เพราะว่านักดนตรีเก่งในภาคเหนือหลายๆ คนติดสังกัดค่ายเพลง ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำความรู้และฝีมือไปพัฒนาวงการเพลงล้านนาได้เท่าที่ควร เนื่องจากว่าหากจะทำอะไร อาทิ แค่เพียงช่วยเล่นดนตรีให้ก็ไม่ได้ถ้าค่ายเพลงไม่อนุญาต ทำให้วงการเพลงล้านนาไม่เดินหน้าไปเท่าที่ควร...

ณ วันนี้แม้ว่าผลพวงจากรางวัลจะทำให้เพลงของคำหล้าขายได้มากขึ้น และเธอมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่ว่าเธอก็ยังคงขี่ตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์เล่นดนตรีขายแผ่นซีดีเหมือนเดิม นอกจากนี้คำหล้ากับกลุ่มเพื่อนๆ นักดนตรีล้านนายังได้รวมตัวกันถ่ายทอดดนตรี และศิลปวัฒนธรรมแก่เยาวชนที่สนใจ เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้จิตวิญญาณความเป็นล้านนาถูกกระแสบริโภคนิยมกลืนกินหายไปจากผืนแผ่นดินไทย

ซึ่งสำหรับผมแล้วเห็นว่าคนประเภทคำหล้าหรือคนเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัวเอง เป็นบุคคลที่กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่รัก หวงแหน และเห็นคุณค่าในท้องถิ่นของตัวเอง ก็จะนำไปสู่สำนึกรักบ้านเกิด รักท้องถิ่น รักจังหวัดของตัวเอง อันนำไปสู่ความรักชาติที่ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดให้ร้องเพลงชาติใน 6 เวอร์ชันแต่อย่างใด?!?


๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ คอลัมน์ท่องเที่ยว โดย ปิ่น บุตรี

คำหล้า ธัญยพร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์