เจอร์รี่ คอลลอน

inof001


เคยเล่าถึงหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของชาวไอริชที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมอย่าง Devil’s Own ไปแล้ว คราวนี้ลองมาชมหนังเกี่ยวกับชาวไอริชอีกเรื่องหนึ่ง ที่เข้มข้นและจริงจังมากว่าหลายเท่า เพราะสร้างจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ของ เจอร์รี่ คอลลอน ที่ต้องถูกคุมขังถึง ๑๕ ปี กับความผิดที่เขาไม่ได้ก่อขึ้น


In the Name of the Father ดัดแปลงจากหนังสือชีวประวัติของ เจอร์รี่ คอลลอน (Gerry Collon) ที่ชื่อ Proved Innocent เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาและครอบครัวต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายสะเทือนขวัญของเกาะอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษที่ ๗๐ ที่เรียกว่าคดี Guildford Four เขาต้องถูกจองจำนานถึง ๑๕ ปี กว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาบริสุทธิ์และแสดงให้โลกเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของอังกฤษนั้นไม่มีความเป็นธรรม


อย่างที่ทราบกันดีว่าเรื่องราววุ่นๆ ของไอร์แลนด์เหนือนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ อันมีเหตุมาจากความต่างของเชื้อชาติและศาสนาเป็นสำคัญ คนไอร์แลนด์ดั้งเดิมนั้นเป็นชาวคาธอลิก จนเมื่อประชากรชาวอังกฤษเริ่มเข้าไปตั้งรกรากมากขึ้นๆ และได้นำเอานิกายโปรแตสแตนท์เข้ามาจนที่สุดแล้วชาวไอร์แลนด์เชื้อสายอังกฤษ (หรือจะเรียกให้ถูกก็คือคนอังกฤษนั่นแหละ) ที่เป็นโปแตสแตนท์กลับกลายเป็นผู้ที่ครอบครองประเทศมากกว่าคนไอริชดั้งเดิมถึง ๒ ใน ๓ ส่วน อีกทั้งคนไอริชดั้งเดิมก็พยายามเหลือเกินที่จะแยตนเองให้เป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษ ทั้งการตั้งโต๊ะเจรจาหรือการใช้ความรุนแรง


ปลายทศวรรษที่ ๖๐ เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้นในไอร์แลนด์ อังกฤษส่งกองกำลังทหารเข้ามาดูแลความเรียบร้อย สร้างความไม่พอใจให้กับ IRA (ขบวนการกู้ชาติไอริช : Irish Republican Army) ที่เห็นว่าอังกฤษฉกฉวยโอกาสเข้ามารุกรานไอร์แลนด์อย่างเปิดเผย มีการก่อกวนมากขึ้น หลายครั้งเกิดเป็นจลาจลย่อยกลางเมืองเบลฟาสต์ และหลายครั้งที่ IRA ตอบโต้ด้วยการรุกเข้าไปก่อกวนถึงแผ่นดินอังกฤษ


inof002


เจอร์รี่ คอลลอน เป็นเด็กหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาในช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย คนไอริชส่วนใหญ่ยากจน เป็นพวกผู้ใช้แรงงานเสียเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาโตขึ้นมาท่ามกลางการสอนสั่งของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้จงเกลียดจงชังพวกอังกฤษ โตขึ้นมาพร้อมกับเสียงระเบิด เสียงปืน เจอร์รี่มองว่าชีวิตของเขาคงไม่มีวันดีไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ ประกอบกับยังอยู่ในวัยเด็กที่รักแต่สนุก คึกคะนองไปตามประสา ต่างจาก จูเซปเป้ บิดาของเขาที่รักสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน เจ้าระเบียบ แต่เหนืออื่นใด จูเซปเป้เชื่อเสมอว่า ชีวิตในวันข้างหน้าจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน


จูเซปเป้ปวดเศียรเวียนเกล้ากับพฤติกรรมเหลือขอของ เจอร์รี่ ลูกชายคนนี้ไม่น้อย ครั้งหนึ่ง เจอร์รี่ เกือบถูกพวกทหาร IRA ยิงทิ้ง เพราะดันไปก่อเรื่องวุ่นวายกับพวกทหารอังกฤษเข้า จนกลายเป็นเป้าสนใจของพวกอังกฤษซึ่ง IRA ไม่ต้องการเช่นนั้น ยังดีที่พ่อของเขาไปอ้อนวอนของชีวิตลูกชาย จากนั้นไม่นาน จูเซปเป้ ก็ตัดสินใจไล่ลูกชายให้ไปหางานทำในอังกฤษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาตายข้างถนนด้วยลูกกระสุนของ IRA


เจอร์รี่ กับ พอล เพื่อนสนิทเดินทางเข้าอังกฤษอย่างร่าเริง พวกเขาตื่นตาตื่นใจกับโลกใบใหม่ที่ต่างจากเบลฟาสต์บ้านของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง ที่อังกฤษทั้งคู่ก็ยังไม่ได้หางานทำเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่ ยังคงเสเพลเล่นเอาสนุกไปตามเรื่อง บางครั้งเมื่อเงินหมดพวกเขาก็งัดแงะขโมยของเล็กๆ น้อยๆ หาเงินมาใช้ไปวันๆ และที่นี่เองที่ทั้งคู่ได้รู้จักกับกลุ่มฮิปปี้นักอุดมคติ แต่ก็ยังเอาแต่เล่นสนุกมากกว่าที่จะสนใจเรื่องอุดมคติการเมืองบ้าบออะไรนั่น สถานการณ์ความขัดแย้งของสองเชื้อชาติยังคงคุกรุ่น ชาวไอริชจำนวนมากอพยพเข้ามาในอังกฤษทั้งที่เข้ามาทำงานสุจริต เข้ามาก่อการร้าย และแบบที่เข้ามาอาศัยอยู่ไปวันๆ แบบเจอร์รี่และพอล ตำรวจอังกฤษจึงจับตาดูคนไอริชกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะพวกที่ “เป็นชาวไอริช เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และมีประวัติอาชญากรรม” (ซึ่งเจอร์รี่และเพื่อนมีคุณสมบัติครบทุกประการ)


inof003


คืนวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ๑๙๗๔ เจอร์รี่และพอลเตร็ดเตร่อยู่ในสวนสาธารณะ และบุกเข้าไปขโมยของเล็กๆ น้อยๆ ในอพาร์ทเมนท์โทรมๆ ของโสเภณีนางหนึ่ง และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็เกิดระเบิดขึ้นที่ผับสองแห่งในกิลฟอร์ด มีคนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงกับประชาชนชาวอังกฤษอย่างมาก และแน่นอนว่าตำรวจอังกฤษก็พุ่งเป้ามาที่ IRA พวกเขาเริ่มต้นจับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เลือกหน้าตามสเปคที่ว่า “เป็นชาวไอริช เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และมีประวัติอาชญากรรม”


คดีสะเทือนขวัญนี้สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก และมันก็เป็นแรงกดดันให้ตำรวจต้องเร่งหาผู้รับผิดชอบให้ได้โดยเร็ว รัฐบาลอังกฤษมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้ตำรวจสามารถจับกุมและกักตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง ๗ วัน โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อกล่าวหา (เกือบจะเหมือนการปกครองในสถานการณ์ฉุกเฉินของบางประเทศเลยแฮะ) อำนาจเด็ดขาดนี้เรียกชื่อว่าเป็น กฎหมายป้องกันการกระทำอันเข้าข่ายการก่อการร้าย (ภาษาที่ถูกต้องใช้ว่าอย่างไรไม่ยืนยัน, ผู้เขียน) หรือ The Prevention of Terrorism Act (POTA) กฎหมายทำนองนี้มักจะถูกใช้ในสภาวะที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงอย่างที่สุด มอบอำนาจแก่ฝ่ายตำรวจหรือทหารให้สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบอย่างรวดเร็ว


ด้วยความพยายามอย่างที่สุดของทีมตำรวจอังกฤษ เจอร์รี่และพรรคพวกก็ถูกจับกุมตัว โชคร้ายที่พวกเขาดันมีท่าทีที่น่าสงสัยประกอบกับตำรวจจำเป็นต้องหาใครสักคนมารับผิดให้เร็วที่สุด ไหนๆ ก็ไหนๆ พวกเขาก็เลยจัดการซ้อมพร้อมกับยัดข้อหาให้เจอร์รี่กับพวกมันซะเลย  เจอร์รี่รู้สึกมึนงงกับเรื่องที่เกิดขึ้น มันรวดเร็วจนเขาตั้งรับไม่ทัน ตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยสนใจเรื่องราวความเป็นเกี่ยวกับการเมืองเลยด้วยซ้ำ เขาเฝ้าแต่ร้องถามว่าเขาทำอะไรผิด เขาถูกกดดันอย่างหนักทั้งขู่ ทั้งซ้อม จนที่สุดแล้วเจอร์รี่ก็ยอมเอ่ยปากรับสารภาพเพื่อที่จะให้เรื่องมันจบๆ ไปซะที … เจอร์รี่คิดอย่างงั้น


inof004


ที่สุดแล้วตำรวจอังกฤษก็ประกาศว่าสามารถจับตัวผู้ต้องหาวางระเบิดได้ทั้งสิ้น ๔ คน ประกอบไปด้วย เจอร์รี่ คอลลอน กับเพื่อน พอล ฮิลล์ และสองเพื่อนใหม่อย่าง แครอล ริชาร์ดสัน กับ แพ็ดดี้ อาร์มสตรอง ทั้งหมดถูกขนานนามว่า สี่วายร้ายแห่งคดีกิลฟอร์ด (Giuildford Four)


แต่นั่นยังไม่สาแก่ใจ ประชาชนเรียกร้องให้ตำรวจขยายผลการจับกุม แพะอีกหลายตัวถูกจับในข้อหาสมรู้ร่วมคิด และหนึ่งในนั้นก็คือ จูเซปเป้ พ่อของเจอร์รี่


น่าเศร้าที่ในเวลาเดียวกันนั้น ตำรวจจับกุมผู้ก่อการร้าย IRA ได้ และรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อการนั้นทั้งหมดโดยที่เจอร์รี่และพวกไม่ได้เกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย พวกเขาสามารถอธิบายขั้นตอนและรายละเอียดของคดีได้อย่างตรงเผง แต่ถ้าหากตำรวจเปิดเผยความจริงออกไปก็เท่ากับว่าฝ่ายตำรวจจับแพะมาสังเวย เรื่องทั้งหมดจึงถูกปิดเงียบปล่อยเลยตามเลยอย่างช่วยไม่ได้


สองพ่อลูกคอลลอนได้มาใช้ชีวิตในห้องขังเดียวกัน เจอร์รี่คิดเสมอว่าพ่อไม่รักเขา เขาเป็นตัวถ่วงที่ชอบหาเรื่องเดือนร้อนมาสู่ครอบครัวเสมอ ตามประสาวัยรุ่นที่มักจะคิดว่า “พ่อ-แม่ ไม่เข้าใจเขาเอาเสียเลย พวกเขาไม่เคยทำอะไรถูกเลยในสายตาของผู้ใหญ่” แท้จริงแล้วจูเซปเป้รักลูกชายอย่างสุดหัวใจ (ไม่เช่นนั้นเขาจะเสี่ยงชีวิตไปขอทหาร IRA ให้ปล่อยตัวเจอร์รี่รึ) ในคุกนี่เองที่ทั้งพ่อและลูกต่างจับมือกันทำลายกำแพงที่ขวางกั้นทั้งคู่ แต่ถึงกระนั้นมัยก็ยังเหลือม่านบางๆ ที่แบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน นั่นคือ ความศรัทธาในการมีชีวิต


inof005


เจอร์รี่นั้นหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เขาตั้งคำถามถึงการมีชีวิตอยู่ เขาหมดสิ้นความหวัง คนบริสุทธิ์ต้องมารับกรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ความเชื่อมั่นทุกอย่างถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เขาใช้ชีวิตหมดไปวันๆ กับการมั่วสุมกับเพื่อนใหม่ในคุก โดยเฉพาะพวกนักโทษไอริชหัวรุนแรง ในขณะที่จูเซปเป้ยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม (หาได้ยากแฮะ) จูเซปเป้สอนลูกชายให้เชื่อมั่นในความถูกต้อง ถ้าเราบริสุทธิ์ในเสียอย่าง ความชั่วร้ายต่างๆ ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้ จูเซปเป้ต่อสู้ตามวิถีทางของเขา เขาตั้งหน้าตั้งตาเขียนจดหมายร้องเรียนไปตามหน่วยงานต่างๆ วันแล้ววันเล่าเป็นเวลาหลายปี ตรงข้ามกับเจอร์รี่ที่เห็นว่าพ่อเขาพยายามไปอย่างเสียเวลาเปล่า


แม้จะคงดื้อรั้นแต่เจอร์รี่ก็เริ่มเปิดใจกับพ่อมากขึ้น วันเวลาผ่านไป เจอร์รี่เริ่มมองโลกในสายตาของผู้ใหญ่มากขึ้นส่วนจูเซปเป้กำลังจะตาย !


หลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างเคยชินและเริ่มสิ้นหวังอยู่หลายปี วันหนึ่ง แกเร็ต เพียซ ทนายความสาวที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือสองพ่อลูกคอลลอน ด้วยความสงสัยต่อกระบวนการสอบสวนของตำรวจ เธอพยายามรื้อฟื้นคดีกิลฟอร์ดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเธอเชื่อว่าพวกเขาเป็นแพะรับบาปในคดีนี้ จูเซปเป้เริ่มมีความหวัง ในขณะที่เจอร์รี่ไม่ค่อยไว้ใจเพียซเท่าไหร่นัก


“เราทนอยู่มาถึงเดี๋ยวนี้ จู่ๆ คุณก็เข้ามาทำให้พ่อมีหวัง”


เจอร์รี่ตวาดใส่เพียซ เพราะเธอเข้ามา จูเซปเป้ที่เจ็บออดๆ แอดๆ ต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ เพื่อมาคุยกับเพียซ ซึ่งเจอร์รี่ก็ยังคงมองว่าเป็นการพยายามที่ไม่เกิดประโยชน์ จนกระทั่งคืนหนึ่ง จูเซปเป้อาการหนักจนต้องหามไปโรงพยาบาล เจอร์รี่ได้แต่นั่งรอในห้องขังอย่างกระวนกระวาย จนกระทั่งบาทหลวงเข้ามาส่งข่าวว่า “จูเซปเป้ตายเสียแล้ว”


เจอร์รี่สติแตก แต่หลังจากนั้นเขาก็เริ่มสานต่อปณิธานของพ่อ เจอร์รี่ให้ความร่วมมือกับเพียซอย่างเต็มที่ เขาเริ่มเขียนจดหมายต่อจากพ่อวันแล้ววันเล่า ส่วนภายนอก เพียซเริ่มรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาจนกลายเป็นที่สนใจของคนในสังคม มีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการไต่สวนใหม่ จากต้นเสียงเล็กๆ ของผู้เฒ่าอย่างจูเซปเป้ เริ่มส่งผลขึ้นในวงกว้างมาแล้ว เหมือนโชคชะตาลิขิต เพียซค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญอย่างบังเอิญ หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความจริงในคดีนี้ถูกปกปิดมาตลอด ๑๕ ปี สองพ่อลูกคอลลอนคือผู้บริสุทธิ์ ที่สุดแล้วศาลได้พิจารณากลับคำตัดสินประกาศให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพ้นข้อกล่าวหา คดีนี้กลายเป็นคดีดังไปทั่วโลก เพราะถือเป็นการตบหน้ากระบวนการยุติธรรมของอังกฤษฉาดใหญ่


inof006


ภายหลังสิ้นคดี เจ้าหน้าที่ศาลพยายามขอให้เจอร์รี่และพวกออกทางด้านหลังแต่เขาไม่ยอม เขาต้องการเดินออกทางประตูหน้า “ผมจะออกทางประตูหน้า ผมคือผู้บริสุทธิ์ ผมจะประกาศให้โลกรู้ ” เจอร์รี่ประกาศจะเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ถึงที่สุด แต่ก็น่าเสียดายที่ท้ายสุดแล้วมันก็ไม่เป็นไปตามที่เขาหวัง กว่าที่ทางรัฐบาลอังกฤษจะออกมายอมรับผิดทั้งปวง ก็ปาเข้าไปในปี ๒๐๐๕ โดยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ เป็นผู้ประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ


 


จิม เชอร์ริแดน ผู้กำกับชาวไอริชทำหนังมาก็หลายเรื่อง เกือบทุกเรื่องจะมีประเด็นทางการเมืองทั้งสิ้น แน่นอนว่าเขาพยายามหยิบยกประเด็นของไอร์แลนด์บ้านเกิดมานำเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งแน่นอนอีกเช่นกันที่คงจะไม่สบอารมณ์ของฝั่งอังกฤษเท่าไหร่นัก ถัดจาก In the Name of the Father เชอร์ริแดนทำหนังที่สะท้อนปัญหาของไอร์แลนด์ตามมาอีกคือ The Boxer ซึ่งก็ยังคงหยิบเอาประเด็นนี้มาเล่นอีกแต่ด้วยบรรยากาศที่อ่อนลง


แดเนี่ยล เดย์ ลิวอิส รับบท เจอร์รี่ แดเนี่ยล จัดเป็นนักแสดงแถวหน้าคนหนึ่ง หนังเรื่องไหนที่เขารับเล่นก็แทบจะการันตีถึงความเป็นหนังมีคุณภาพ มีหลายฉากที่แดเนียลเล่นได้ดีจนขนลุก อย่างตอนที่เขาสติแตก พังข้าวของในห้องขังแล้วเอาสายเทปมาพันตัว หรือตอนที่เขาดูแลพ่อที่ป่วยกระเสาะกระแสะ เอาวิปทาหน้าอกให้พ่อ ฉากนี้ดูอบอุ่นและแสดงให้เห็นด้านที่อ่อนโยนของเจอร์รี่ แดเนียลทำให้ผู้ชมรู้ถึงพัฒนาการของเจอร์รี่ได้อย่างชัดเจน จากเด็กหนุ่มที่เอาแต่สนุก สิ้นหวังต่อชีวิต จนกลับมาเป็นคนที่ไม่ยอมจนมุมต่อชะตากรรม กล้าลุกขึ้นสู้กับความไม่ถูกต้องอย่างองอาจ ส่วนคอลลอนผู้พ่อเล่นโดย พีท พอเซิร์ทเวต ผู้ชมน่าจะคุ้นหน้ากับเขาจากบทสมทบหลายเรื่อง พีทถ่ายทอดผู้เฒ่าที่ไม่ยอมสิ้นหวังจนนาทีสุดท้าย พ่อที่เป็นห่วงลูกแม้ว่าจะโตเป็นหนุ่มแล้วแต่เจอร์รี่ก็ยังเป็นไอ้หนูเจอร์รี่ของเขาเช่นเดิม ฉากการจลาจลในคุกที่แสนวุ่นวาย จูเซปเป้ที่เจ็บหนักก็ยังอุตส่าห์ตะเกียกตะกายออกมาเรียกหาลูกชายอย่างไม่สนใจตัวเอง ฉากที่ตรึงใจผู้ชมที่สุดฉากหนึ่งเห็นจะเป็นตอนที่นักโทษทั้งเรือนจำเผากระดาษแล้วโปรยลงมาจากช่องหน้าต่างเพื่อไว้อาลัยแก่การจากไปของผู้เฒ่าจูเซปเป้ ทั้งสวยทั้งเศร้าไปพร้อมๆ กัน


inof007
จิม เชอร์ริแดน ผู้กำกับ


หนังพยายามจะบอกให้ผู้ชมเข้าใจว่าปัญหาทุกอย่างนั้นมีหนทางแก้ไขเสมอ เจอร์รี่กับจูเซปเป้กว่าจะเข้าใจกันก็ตอนมาอยู่ด้วยกันในคุก เมื่อพวกเขามีเวลาให้แก่กัน นั่งลงเปิดอกคุยกันอย่างจริงใจตามประสาพ่อลูก ความอัดอั้นทั้งหลายก็คลี่คลายลง มันก็เหมือนกับอังกฤษกับไอริชนั่นแหละ ทำไมจะยุติความขัดแย้งกันไม่ได้ หากต่างฝ่ายต่างยอมลดทิฐิเปิดอกคุยกันอย่างจริงใจ เชอร์ริแดนเคยกล่าวไว้ว่า อังกฤษนั้นก็เหมือนพ่อ (จูเซปเป้) ไอร์แลนด์ก็เหมือนลูกชาย (เจอร์รี่) เมื่อพ่อกับลูกไม่ปรับความเข้าใจกัน มันก็ไม่มีทางจะมาดีกันได้ แต่ยังไงเสียพ่อลูกมันก็ตัดกันไม่ขาดอยู่ดีนั่นแหละ


อีกจุดหนึ่งที่ชอบใจมากคือการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้นไม่ได้ผลเสมอไป หรือจะเรียกให้ถูกคือมันไม่มีทางได้ผลเลย เมื่อต่างฝ่ายต่างแรงเข้าหากัน ไม่มีใครยอมถอย ผลร้ายก็ตกอยู่กับประชาชน ครอบครัวคือพื้นฐานที่สำคัญของสังคม ของชาติ หากครอบครัวไม่แข็งแรง ประเทศชาติก็ไม่มีทางเป็นปึกแผ่น ขณะเดียวกันหากผู้นำชาติไม่เที่ยงธรรม ประชาชน (หรือครอบครัว) ก็ไม่มีทางอยู่กันอย่างเป็นสุข


ในขณะเจอร์รี่เริ่มคล้อยตามนักโทษไอริชหัวรุนแรงที่พยายามบอกเขาว่า โลกไม่มีทางหันมาฟังเราหากเราไม่แสดงว่าเรามีตัวตน นั่นหมายถึงการก่อการร้าย จนกระทั่งมีการวางแผนเผาผู้คุมคนหนึ่งทั้งเป็นต่อหน้าต่อตาเจอร์รี่ หลังจากเหตุการณ์นั้นเจอร์รี่รู้สึกสะอิดสะเอียนกับการกระทำดังกล่าว เขาเริ่มถอยห่างจากพวกหัวรุนแรง เพราะแท้จริงแล้วเจอร์รี่ไม่ใช่คนประเภทนั้น


inof008
เจอร์รี่ คอลลอน ตัวจริง กับจดหมายแสดงการขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอังกฤษ


อย่างที่เชอร์ริแดนบอกไว้ อังกฤษกับไอร์แลนด์ยังไงมันก็เลือดเดียวกัน ตัดกันไม่ขาด ขอเพียงแต่ปรองดองกันได้ความสงบสุขย่อมบังเกิด … จะมีคนในบางประเทศแถวนี้ได้ยินมั้ยน้อ…


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์