แมลงกินได้

แมลงกินได้

 

แมลงกินได้

      แมลงเป็นสัตว์ที่มีมากที่สุดในโลกเท่าที่ทราบชื่อแล้วมีมากกว่า 8 แสนชนิด ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 8 พัน ชนิดที่เป็นศัตรูต่อมนุษย์ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่การช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้ง การให้ผลผลิตชนิดต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ชันครั่ง เส้นไหม การเป็นตัวห้ำ ตัวเบียนช่วยทำลายแมลงศัตรูพืช เช่น ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ มด ต่อเบียน แตนเบียน เป็นต้น ที่ใช้ประโยชน์ในทางการศึกษา เช่น แมลงหวี่ ผึ้ง ช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น มด กินซากพืชและสัตว์เป็นอาหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายซากเหล่านั้น และที่สำคัญแมลงยังใช้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ได้อีกด้วย


      มีแมลงกว่า 500 ชนิด ที่ทั่วโลกรู้จักและถูกใช้เป็นอาหาร เช่น แถบอัฟริกากินตั๊กแตนชนิดต่างๆ ปลวก และหนอนผีเสื้อขนาดใหญ่ ในอเมริกากินมดคั่ว ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ชาวเกาะนิวกีนีนิยมกินจั๊กจั่น ชาวพื้นเมืองออสเตรเลียกินหนอนบางชนิด ชาวเกาหลีกินตั๊กแตน และดักแด้ของหนอนไหม ส่วนคนไทยนิยมกินแมลงดาตัวผู้ ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวจากต่อมฟีโรโมนเพศ เป็นต้น


      ประเทศไทยมีแมลงมากกว่า 50 ชนิดที่ใช้เป็นอาหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคเหนือการที่จะทราบว่าแมลงชนิดใดกินได้หรือไม่นั้น เป็นความรู้สืบทอดต่อๆ กันมา แมลงที่กินได้บางชนิดพบว่ามีอยู่เฉพาะที่ จึงรู้จักกินกันเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ และมักจะมีชื่อเรียกเฉพาะท้องถิ่นด้วย แต่บางชนิดมีอยู่ทั่วไปในประเทศจึงรู้จักกินกันอย่างกว้างขวาง และบางครั้งก็สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด

ทำไมจึงเลือกแมลงเป็นอาหาร

      คนไทยกินแมลงเป็นอาหารน่าจะมาจากวัฒนธรรมการบริโภค และภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาตามสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อหาแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่ามาทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพง ดังเช่นคนอีสานกินแมลงเพราะหาง่ายและบางครั้งติดใจในรสชาติ

เลือกกินแมลงอย่างไรจึงจะปลอดภัย


      การจะเลือกกินแมลงชนิดใดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพนั้น ควรคำนึงถึงการเลือกกินแมลงตามหลักสุขลักษณะของอาหารด้วย เพื่อไม่ให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ จะต้องพิจารณาดังนี้


      1. เป็นแมลงที่รู้จักและเป็นแมลงที่มีคนนำมากินได้ และควรจะเลือกชนิดของแมลงที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่าละเมาะสวนป่าธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเลย


      2. เป็นแมลงที่จับมาขณะยังมี่ชีวิตอยู่ และนำมาปรุงเป็นอาหารทันที


      3. ควรจะหลีกเลี่ยงแมลงที่เป็นศัตรูภายในบ้านที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ เช่น แมลงวันบ้าน แมลงสาบ เพราะอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคแบคทีเรีย โปรโตชัว และหนอนพยาธิ เป็นต้น


      4. ควรหลีกเลี่ยงแมลงที่มีสีสันสดใส ซึ่งจะมีพิษมากกว่าชนิดที่ไม่มีสี หรือสีซีด


      5. ควรจะปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานเสมอ อาจจะโดยการคั่ว ทอด ปิ้ง ย่าง ต้ม ผัด หรือนึ่งก็ได้ แมลงบางชนิดอาจจะนำมาตำน้ำพริก ผสมใส่ในแกง หรือทำห่อหมก เป็นต้น


      6. ปีก ขน ขา หรือ หนามแข็งของแมลง ควรจะเด็ดทิ้งก่อนนำไปกิน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคันได้ มีแมลงหลายชนิดทำให้เกิดอาการแพ้กับคนได้ เมื่อสัมผัสถูกผิวหนัง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละบุคคล ดังนั้นคนที่เกิดเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายก็น่าจะหลีกเลี่ยงการกินแมลงด้วย ถึงแม้ว่ายังไม่มีเอกสารอ้างอิงแน่นอนว่าการกินแมลงจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่นเดียวกับคนที่แพ้กุ้ง ซึ่งแม้จะกินเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ เช่น หายใจไม่ออก หรือเป็นลมพิษ ได้เช่นกัน


แมลงที่คนนิยมนำมากินเป็นอาหาร


1. ตั๊กแตนปาทังกา
      ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนอีสาน
      






             

เป็นแมลงขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตั๊กแตนอื่น มีลำตัวยาว 6 - 7 เซนติเมตรสันกระโหลกมีแถบสีครีมทอดตามยาวจากส่วนหน้าไปต่อกับแถบสันหลังอกซึ่งมีสีเดียวกัน พบตามไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นิยมรับประทานโดยการทอด แกง หรือผัด และมีขายทั่วไป







2. แมลงกระชอน
      ชื่อท้องถิ่น : แมลงกระชอน แมลงจอน



       เป็นแมลงที่มีสีน้ำตาล ความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ลักษณะที่สำคัญคือมีขาหน้ากว้าง มีรูปร่างคล้ายอุ้งมือ ใช้ในการขุดดิน เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน ชอบความชุ่มชื้น โดยขุดรูอยู่ใต้ดิน ต่ำกว่าผิวดินประมาณ 6 - 8 นิ้ว นิยมนำมาเป็นอาหารโดยการทอด คั่ว นึ่ง หมก แกง ยำ ลาบ



3. จิ้งหรีด
       ชื่อท้องถิ่น : กี้ดีด กินาย กิโหลน

      เป็นแมลงที่มีอวัยวะทำเสียงในตัวผู้อยู่ตามขอบปีกคู่หน้า จึงใช้ปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียงมีหลายชนิด เป็นแมลงที่ไม่ชอบแสงสว่าง อยู่ตามคันนา ทุ่งหญ้า ออกจากรูในตอนกลางคืน นิยมนำมาเป็นอาหารโดยเสียบไม้ย่าง คั่ว ตำน้ำพริก ปัจจุบันนี้จัดได้ว่าจิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำรายได้ให้กับประชาชน จึงมีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้ ในหลายจังหวัด เช่น สกลนคร ขอนแก่น ลพบุรี และพิจิตร เป็นต้น


4. จิ้งโกร่ง
       ชื่อท้องถิ่น : จิโปน จิ้งโก่ง จิ้งหรีดโก่ง จิ้งหรีดหัวโต






      เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่ง มีรูปร่างอ้วน หัวโต ปีกมีลายเส้นเล็กน้อย ชอบขุดดินทำรูเป็นที่พักอาศัย อยู่ตามคันนา ทุ่งหญ้า หรือ บริเวณบ้านเรือน นิยมนำมาเป็นอาหารโดย คั่ว ทอด ยำ หมก เสียบไม้ย่าง


5. หนอนเยื่อไผ่
       ชื่อท้องถิ่น : หนอนไม้ไผ่ รถด่วย รถไฟ ตัวแน้ แมลงแน้ แมลงแม่







     หนอนเยื่อไผ่ มีตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง มีสีน้ำตาลส้ม ปีกคู่บนมีลวดลายหยักเป็นเส้นโค้งสีดำ ตัวเมียใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวผู้มีขนาด 2 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเมื่อผสมและวางไข่แล้วจะตาย ไข่จะถูกวางตามโคนหน่อไผ่และตามกาบใบ เมื่อฝักเป็นตัวอ่อนก็จะรวมตัวกัน เคลื่อนย้ายเดินทางเป็นขบวนยาวอย่างเป็นระเบียบ เพื่อไปหาปล้องไผ่ที่เหมาะสม หลังจากนั้นก็จะช่วยกันเจาะรูเพื่อเข้าปล้องไผ่ กินเนื้อไม้อ่อนและเยื่อไผ่ภายในปล้อง หนอนเยื่อไผ่เป็นแมลงที่นิยมบริโภคกันมากในภาคเหนือ โดยการทอดกรอบถือเป็นเมนูอาหารจานเด็ดตามร้านอาหารและภัตตาคารในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เป็นอาหารเสริมที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ รับประทานได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคมปีถัดไป ปัจจุบันนี้จึงจัดได้ว่าเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประชาชนทางภาคเหนือ จึงมีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้


 


6. ดักแด้ไหม
       ชื่อท้องถิ่น : ดักแด้







       เป็นระยะดักแด้ของผีเสื้อไหม ไหมเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ตัวเป็นสีครีม เมื่อกางปีกออกจะมีขนาดประมาณ 2 นิ้ว ลำตัวอ้วนบินไม่ได้ ตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร มีอายุสั้นเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น หลังวางไข่ (ประมาณ 300-500 ฟอง) ก็จะตาย ไข่ฟักเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 10 วัน ระยะตัวหนอนจะกินใบหม่อนเป็นอาหารจนอายุ 35 - 40 วัน ก็จะเข้าดักแด้ โดยจะทำรังไหมห่อหุ้มตัว รังไหม เมื่อนำไปต้มสาวเส้นไหมออกแล้ว ตัวดักแด้ก็นำมารับประทานได้ โดยการนึ่ง คั่ว ทอด แกง หรือ ป่นใส่น้ำพริก




7. จั๊กจั่น
      ชื่อท้องถิ่น : จักจั่น เรไร







      เป็นแมลงขนาดโต มีปีกคู่หน้าใส เนื้อปีกมีลักษณะและขนาดความหนาเท่ากันตลอดทั้งแผ่นปีก ส่วนหัวและอกกว้างตัวเรียวเล็กไปทางหาง ตากลมโตเห็นได้ชัดเจน และอยู่ตรงมุมสองข้างของศีรษะ ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียง ส่วนใหญ่เพื่อการหาคู่ครอง พบได้ตามต้นไม้ใหญ่ บริโภคโดยการทอดคั่ว ตำน้ำพริกมะม่วง




8. มดแดง
      ชื่อท้องถิ่น : มดแดง ไข่มดแดง แม่เป้ง


      ที่นิยมนำมาบริโภค คือ มดแดง หรือ ตัวมดแดง หมายถึง มดงานซึ่งมีลักษณพสำคัญ คือ ตัวมีสีแดง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ไม่มีปีก มีก้านบนสันหลังและส่วนท้องปล้องที่ 1,2 มีลักษณะเป็นปุ่มปม มีหนวดหักเป็นข้อศอก มีหน้าที่สร้างรัง และเลี้ยงตัวอ่อน







      ไข่มดแดง ในความหมายของชาวบ้านจะใช้เรียกรวมทั้งไข่และตัวอ่อนหรือระยะดักแด้ของมดงาน และราชินีมดที่มีสีขาว หรือชมพูอ่อน
       แม่เป้ง เป็นมดตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่กว่ามดแดงทั่วไปเป็นคำที่ใช้เรียกรวมทั้งตัวเมียหรือราชินีมดหรือมดนางที่มีสีเขียว และตัวผู้ที่มีสีแดง แม่เป้งมีปีกบางใส มีหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่ ปกติมดแดงทำรังบนต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วง ต้นชมพู่ ชาวบ้านนิยมบริโภคทั้งตัวและไข่มด โดยนำมดแดงมาใส่ในอาหารประเภทยำ หรือ ต้มยำ เพราะมดแดงมีรสเปรี้ยวจากกรดฟอร์มิคที่ผลิตขึ้น สำหรับไข่มดนั้นนิยมนำมาใส่ แกง ยำ ทอดกับไข่เจียว ตัวแม่เป้งนิยมนำมาทำยำ หรือคั่ว หรือ ทำเมี่ยง


 


9. แมลงเม่า
       ชื่อท้องถิ่น : แมงเม่า






   

   เป็นปลวกหนุ่มสาว ที่มีหน้าที่สืบพันธุ์ มีปีก 2 คู่ บางใส ปีกคู่หน้าและคู่หลัวคล้ายกันมาก มีความยาวมากกว่าลำตัว เมื่ออยู่กับที่จะพับแบนราบบนสันหลัง ทำรังอยู่ใต้ดิน ช่วงเวลาผสมพันธุ์จะเป็นช่วงต้นฤดูฝน มักออกจากรังเวลาหัวค่ำของวันที่ฝนตก หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้ง เพื่อสร้างรังใหม่นิยมนำมาบริโภค โดยการคั่ว นึ่ง ทำเมี่ยง




10. แมลงดานา
       ชื่อท้องถิ่น : แมงดา








      เป็นแมลงที่จัดว่ามีลำตัวใหญ่ที่สุดในพวกมวนด้วยกัน อาศัยอยู่ในน้ำมีลำตัวกว้างและแบนเป็นรูปไข่ ขาคู่หน้าเหมาะสำหรับจับสัตว์ ขาคู่กลางและหลังแบนตรง มีขนสีน้ำตาลคลุมเป็นแผงด้านหนึ่ง เหมาะสำหรับว่ายน้ำ นิยมนำแมงดามาทำเป็นน้ำพริกทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน แมงดาพบได้ตามในนาบ่อหรือสระ กินแมลง และสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร มีนิสัยชอบเล่นแสงไฟ


 


11. แมลงเหนี่ยง
       ชื่อท้องถิ่น : แมลงเหนี่ยง แมลงอดง้ำ แมลงข้าวเกลี้ยง







      เป็นแมลงที่คล้ายแมลงตับเต่ามาก ลำตัวมีสีดำรูปไข่ลำตัวโค้งนูนมากกว่ามีหนวดสั้นเป็นรูปกระบองระยางค์ปากยื่นออกมามากกว่าหนวดมาก ลักษณะคล้ายเส้นด้ายปากจะยาวแหลมพับอยู่ใต้อกยาวถึงส่วนท้อง ปลายขาคู่กลางและหลังจะมีขนเป็นแพเหมาะสำหรับว่ายน้ำ แมลงเหนี่ยงพักอาศัยอยู่ในน้ำนิ้งกินพืชและวัตถุเน่าเปื่อยในน้ำเป็นอาหารตัวเต็มวัยชอบแสงไฟ นำมาปรุงกินโดยการทอดคั่ว หมก แกง




12. แมลงตับเต่า หรือด้วงดิ่ง
       ชื่อท้องถิ่น : แมงกิเต่า







      เป็นแมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ มีลำตัวลื่น เป็นมัน รูปไข่ มีสีดำปนน้ำตาล และขอบปีกมีแถบสีเหลืองมัวๆ ทางด้านข้างของลำตัวแตกต่างกับแมลงเหนี่ยงตรงที่มีหนวดยาวเป็นเส้นด้ายขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่อื่นๆ และแบน มีขนเหมาะสำหรับใช้ในการว่ายน้ำ โดยมากอาศัยอยู่ในบ่อ สระ นาข้าว แม่น้ำ ลำธาร คู คลอง หนอง บึงต่างๆ และมักเอาศรีษะดิ่งลงเมื่อเกาะอยู่ที่ผิวน้ำนำมาปรุงเป็นอาหาร โดยการทำป่น (น้ำพริก) คั่ว ผัด และแกง


 


13. แมลงกุดจี่
       ชื่อท้องถิ่น : แมงกุดจี่ ด้วงขี้ควาย ด้วงขี้คน






       แมงกุดจี่ที่นิยมรับประทานมีหลายชนิดคือ

       กุดจี่แดง ส่วนหัว อกปล้องแรกและปีกมีสีดำปนส้ม ท้องดำ ตัวผู้อกปล้องแรกมีเขา 1 อัน

       กุดจี่หวาย ส่วนหัวมีลักษณะกลมบางแบน คล้ายจาน หนวดแนบหักข้อศอก ปากเป็นแบบกัดกิน หัว ท้องและปีกมีสีน้ำตาล ตัวผู้อกปล้องแรกมีเขา 2 อัน

       กุดจี่เขา ลำตัวมีสีดำหรือน้ำตาล ส่วนหัวมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม ขอบแบนบาง ตัวผู้ส่วนหัวมีเขาโค้งงอ 1 อัน อกปล้อง แรกมีเขา 2 อัน

       กุดจี่มุ่ม มีสีดำมันทั้งตัว หัวมีลักษณะบางแบนโค้งรูปครึ่งวงกลม ขา 2 คู่ลักษณะคล้ายใบพาย ปีกสีดำมีลายขนานกันตามยาว

       การนำมาปรุงเป็นอาหารของแมลงกุดจี่ส่วนใหญ่เป็นการคั่วใส่เกลือเล็กน้อย นึ่ง แกง ตำน้ำพริก ยำ




14. แมลงกินูน
       ชื่อท้องถิ่น : แมลงอินูน แมงกินูน







       เป็นแมลงปีกแข็ง ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล มีขนาดบางๆ แล้วแต่ชนิด ลำตัวเป็นรูปไข่ ลักษณะที่สำคัญคือ ปีกคลุมส่วนท้อง ปล้องสุดท้ายไม่มิด มักพบอยู่ตามต้นมะขาม ตะโก พุทรา มะม่วง น้อยหน่า ต้นคูน และต้นเต็ง การนำมาปรุงเป็นอาหารนิยมนำมาคั่ว ตำน้ำพริก แกง




แมลงที่ไม่ควรบริโภค

      ประชาชนเลือกกินแมลงจากวัฒนธรรมที่สือทอดต่อๆ กันมา แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับชื่อและชนิดของแมลงรวมทั้งอันตรายจากแมลงบางชนิด จึงพบว่าประชาชนบางส่วนมีอาการไม่สบายจากการกินแมลงที่เป็นพิษ เช่น รู้สึกชาบริเวณปากและใบหน้า เมื่อกินด้วงบางชนิด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นผื่นแพ้ตามผิวหนัง และท้องร่วงเมื่อกินตั๊กแตน ผึ้ง โดยจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน เคยมีรายงานการเสียชีวิตของประชาชนจากการรับประทานแมลง ซึ่งได้แก่ ด้วงน้ำมัน


ด้วงน้ำมัน
       ชื่อท้องถิ่น : ด้วงไฟเดือนห้า ด้วงโสน แมลงอึ่มไฮ้







      เป็นแมลงปีกแข็ง ที่มีลำตัวยาวประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร ลำตัวมีสีดำ มีแถบเหลืองบนปีก 3 แถบพาดขวางลำตัว เมื่อถูกรบกวนก็จะขับสารพิษที่เรียกว่า แคนทาริดิน ออกมาทันที แคนทาริเป็นสารพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของไตและอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเซื่องซึม ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ปัสสาวะเป็นเลือด ช็อกหมดสติ และตายในที่สุด

       ด้วงน้ำมันอาศัยอยู่ตามต้นแคที่ชาวบ้านใช้ดอกมาทำแกงส้ม ด้วงน้ำมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับแมงมาลี ซึ่งเป็นด้วงที่กินได้ ลำตัวมีสีดำ ปีกคู่หน้า 2 ปีกเป็นสีดำ มีแถบเหลือง 1 แถบคั่นกลาง มีหนอดยาวและใหญ่กว่าหนวดของด้วงน้ำมันส่วนโค้งเป็นสีดำ และส่วนปลายเป็นสีเหลือง




อันตรายของด้วงน้ำมัน

     
พ.ศ. 2538 ข่าวกินแมลงตายที่จังหวัดพัทลุง ด้วยเชื่อว่าเป็นยารักษาโรค และยาบำรุงกำลัง
      พ.ศ. 2532 มีรายงานการเสียชีวิตและป่วยหนักที่จังหวัดลำปาง และ จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากกินแมลงด้วงน้ำมัน กองพิษวิทยาและกองกีฏวิทยาทางแพทย์จึงได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์แมลงและสารพิษ พบสารแคนทาริดินประมาณ 6 มิลลิกรัมต่อแมลง 1 ตัว
     สารแคนทาริดินนี้ถ้าได้รับเข้าไปในร่างกายในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการพิษได้ และถ้าได้รับในปริมาณ 10 มิลลิกรัมก็จะทำให้เสียชีวติได้ อาการพิษของสารนี้ถ้าสัมผัสถูกผิวจะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นตุ้มน้ำ พอง ถ้าหากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารอย่างรุมแรง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องร่วง ปัสสาวะเป็นเลือด อาจทำให้ถึงตายได้
      พ.ศ. 2539 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ได้ส่งตัวอย่างแมลงที่มีผู้รับประทานแล้ว 2 คน เกิดพิษและถึงตายได้ เพื่อตรวจสอบชนิดแมลงปรากฏว่าเป็นด้วงน้ำมัน
      พ.ศ. 2540 มีข่าวกินแมลงตายที่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

      ให้ผู้ป่วยรับประทานผงถ่าน แล้วรีบนำมาส่งแพทย์ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งแพทย์


การป้องกันอันตรายจากการรับประทานแมลง


      ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงที่ไม่ทราบชนิด หรือสงสัยว่าเป็นด้วงน้ำมัน


บทสรุป

      แมลงเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันและแร่ธาตุ ดังนั้นการเลือกกินแมลงเป็นอาหาร ควรจะเลือกกินแมลงให้ถูกสุขลักษณะอาหาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์