ห่วงใย !! มฤตยูเงียบ! มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก

มฤตยูเงียบ! มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก แพทย์แนะตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ


อธิบดีกรมแพทย์เตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมฤตยูเงียบคร่าชีวิตคนไทย แนะควรให้ความสำคัญโดยตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพราะในระยะแรกไม่แสดงอาการแต่ป้องกันได้หากตรวจพบ แต่เนิ่น ๆ

วันนี้ (7 ส.ค.) ที่ศูนย์มะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี 2541-2543 ( Cancer in Thailand Vol.IV, 1998-2000 ) พบอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด โดยมีอุบัติการณ์ 8.8 ต่อประชากร 1 แสนคน และในเพศหญิงพบอัตราการเกิดโรคเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด คิดเป็น 7.6 ต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้อัตราส่วนการเกิดโรคระหว่างเพศชายต่อเพศหญิงคิดเป็น 1.24 ต่อ 1 และ พบมากในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์จะมากขึ้นด้วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตเมืองใหญ่ โดยมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตก ปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก ไขมันสูง กากใยน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีอาการถ่ายผิดปกติท้องผูกสลับท้องเสีย โรคนี้จะไม่ปรากฏอาการในระยะแรกแต่หากพบการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น อุจจาระเป็นมูกเลือด คลำพบก้อนบริเวณท้อง มักจะเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่ แผลอักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรับการตรวจประเมินลำไส้ใหญ่โดยละเอียด ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคดังกล่าว เช่น การตรวจอุจจาระซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียมเข้าทางทวารหนักแล้วถ่ายเอกซเรย์ และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อดูรอยโรคและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ สำหรับการรักษาจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะของโรค จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในภาคเหนือก็เช่นเดียวกัน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาวิจัยทะเบียนมะเร็งภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพิษณุโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของ 16 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในเพศชายสูงขึ้นอย่างมากในมะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับเพศหญิงพบมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด เป็น 3 อันดับแรกที่มีอัตราการเกิดโรคสูงและเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งในภาคเหนือมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งของประเทศโดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งตับ

สถาบันมะเร็งแห่งชาติร่วมกับศูนย์มะเร็ง ลำปาง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2551 ณ ศูนย์มะเร็ง ลำปาง กิจกรรมประกอบด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 100 คน การอบรมเทคนิคการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 250 คน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการตรวจวินิจฉัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ และการให้บริการตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับประชาชน จำนวน 600 คน ได้แก่ การตรวจ Gastroscopy, Colonoscopy และการตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Immunochemical test เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของการตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก โดยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องทางการแพทย์

เรื่องไม่มัน...ของไขมัน

เมื่อวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยน อาหารการกินก็เปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าอาหารที่ยั่วน้ำลายใครหลายๆ คนในปัจจุบันนี้นั้นคงไม่อาจยืนยันได้เลยว่าทุกอย่างจะให้ประโยชน์เท่ากัน อีกทั้งหากกินมากสิ่งที่ตามมาคือความอ้วนที่จะคอยสร้างความกังวลให้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย


นพ.ต่อศักดิ์ โหระวงศ์

ทว่า ความอ้วนที่เกิดขึ้นนั้นตัวการสำคัญคงหนีไม่พ้นอาหารการกินที่เน้นไขมัน และแป้งเป็นหลัก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายนั้น นพ.ต่อศักดิ์ โหระวงศ์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล โชคชัย 4 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันภาวะของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับไขมัน เป็นภาวะที่ทางการแพทย์กลัวมาก เพราะมีอัตราภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สูง

ที่น่ากลัวมากที่สุด คือ เรื่องของโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพราะไขมันไปเกาะตามเส้นเลือด ที่จะขึ้นไปเลี้ยงหัวใจ จึงทำให้หัวใจขาดเลือดส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ยังรวมไปถึงการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือดสมอง ทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก

นพ.ต่อศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะแต่กับคนอ้วน แต่ความจริงนั้นคนผอมก็มีความเสี่ยงจากโอกาสที่ไขมันในเลือดจะสูงได้เช่นกัน โดยการที่ไขมันจะไปสะสมอยู่ตามหลอดเลือด เส้นเลือด แต่เนื่องจากบางคนมีระบบการเผาผลาญที่ดี ซึ่งมาจากการออกกำลังกาย บริหารร่างกายอยู่ตลอดเวลาทำให้รูปร่างดูไม่อ้วน แต่ถึงอย่างไรคนอ้วนก็ยังมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนผอม ทั้งไขมันตามร่างกายก็เป็นตัวบ่งบอก เช่นไขมันตรงหน้าท้อง เป็นตัวบ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันสูง ต้องระมัดระวังไม่ให้อ้วนลงพุง ซึ่งอาจนำพาไปสู่ภาวะเสี่ยงต่างๆ ตามมา

“ช่วงวัยที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับไขมันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการสะสมมาอย่างยาวนาน แต่ตอนนี้กลับพบอีกว่าในคนที่อายุยังน้อยในช่วงอายุ 30 ปีก็พบโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อม การบริโภคของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ซึ่งในปัจจุบันผู้คนกินอาหารประเภทแป้ง เน้นอาหารมันๆ มากขึ้น และการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง ความดันโรหิตสูง เบาหวานทั้งสิ้น”


กินอาหารที่มีประโยชน์

ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงนั้น นพ.ต่อศักดิ์ แจกแจงว่า อาหารการกินเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดเนื่องจากอาหารในปัจจุบันจะมีส่วนผสมของแป้ง และไขมันค่อนข้างสูง ยิ่งเป็นขนมขบเคี้ยวที่เด็กๆ ชอบกินด้วยแล้วจะยิ่งเป็นการเริ่มสะสมปริมาณของไขมันมากขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย และการที่ภาวะเร่งรีบในแต่ละวันของผู้คนทำให้ลืมนึกถึงการออกกำลังกาย บวกกับความเครียดจากการทำงาน พักผ่อนน้อย ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป นี่จึงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงได้

“ต้องเริ่มควบคุมการกินตั้งแต่เด็ก ซึ่งผู้ปกครองควรเลือกสิ่งที่มีประโยชน์ให้ลูกๆ กิน ไม่แนะนำให้กินขนมขบเคี้ยว หรือของหวาน อาหารมันมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นไขมันอาจจะสะสมเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วต่อไปในอนาคตก็จะมีโรคแทรกซ้อน และโรคเรื้อรังหลายๆ โรคที่ตามมา ที่สำคัญคือเด็กสมัยนี้ไม่ชอบทำกิจกรรม ออกกำลังกาย แต่เลือกที่จะนั่งอยู่เฉยๆ เล่นเกมหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานานๆ ทำให้ร่างกายไม่มีโอกาสในการเผาผลาญไขมันต่อไปก็จะหนีความอ้วนไม่พ้น”

สุดท้าย นพ.ต่อศักดิ์ ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า การป้องกันในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้นต้องอยู่ที่การควบคุมตัวเองเป็นสำคัญ ต้องมีการหักห้ามใจและเลือกที่จะกินอาหารในส่วนที่มีประโยชน์มากกว่ากินตามที่เห็นว่าน่ากินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงบุหรี่ เหล้า ก็จะช่วยได้มาก

นอกจากนี้ ในส่วนของอาหารมื้อเย็นนั้นก็ควรลดปริมาณลงมาเล็กน้อยกินพออิ่ม เพราะอาหารมื้อเย็นเมื่อกินเข้าไปแล้วก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ เพราะอยู่ในช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อน อาจทำให้เกิดไขมันสะสมได้ จึงควรให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวันที่อยู่ในช่วงที่ต้องใช้พลังงาน แต่ก็ใช่ว่าจะงดมื้อเย็นเสียทีเดียวเพียงแต่ลดปริมาณเท่านั้น และต้องออกกำลังกายควบคู่กันไป ทั้งนี้ ก็ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิด ซึ่งเมื่อพบว่าเสี่ยงต่อโรคก็จะได้หาวิธีการป้องกันได้ ซึ่งจะเป็นวิธีการลดปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุด

ความรู้ใหม่ๆนะครับ     ^^


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์