แถลงการณ์"ทักษิณ"ประกาศภาวะฉุกเฉิน ก่อนโดนปฏิวัติ

แถลงการณ์\"ทักษิณ\"ประกาศภาวะฉุกเฉิน ก่อนโดนปฏิวัติ


หมายเหตุ


หมายเหตุ : เมื่อเวลา 22.15 น. วันที่ 19 กันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ผ่านดาวเทียมจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ออกโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่ออ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับก็ถูกตัดสัญญาณ

แถลงการณ์ฉบับที่ 1


"ทักษิณ"ประกาศภาวะฉุกเฉิน

ในภาวะความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรง รวมทั้งกระทบอย่างร้ายแรงต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรและจำเป็นที่จะต้องเร่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5,6,11 วรรค 1 แห่ง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 และ 35,36,37,39,44,48,50 และ 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 21.15 น.


แถลงการณ์ฉบับที่ 2


"ทักษิณ"ปลด ผบ.ทบ.

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างฉุกเฉินและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

ประกอบมาตรา 11 (2) แห่ง พ.ร.ก.การกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ณ บัดนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา สั่ง ณ วันที่ 19 กันยายน 2549

แถลงการณ์ฉบับที่ 3


"ทักษิณ"ตั้ง ผบ.สส.คุมอำนาจ

คำสั่งผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และมอบอำนาจการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครแล้วนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรค 4 และ 6 และมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่ง ดังนี้ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ใน

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้ 1.บังคับบัญชา และสั่งการส่วนราชการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด 2.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดหรือมอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์