รอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต มีทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานทางโบราณคดี ในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นได้ปรากฎอยู่ในเอกสารโบราณมากมาย อาทิเช่น เรื่องรัตน์พิมพ์วงค์ ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องพระรัตนปฏิมา ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง และพงศาวดารโยนก เป็นต้น
จากเอกสารดังกล่าว สามารถประมวลได้ว่า พระแก้วมรกต สร้างขึ้นจากความดำริของพระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาตลีบุตร ในชมพูทวีป ( ประเทศอินเดียวในปัจจุบัน ) เมื่อประมาณ พ.ศ.500 จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้
เกาะลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๘๐๐
เมืองนครธม ในอาณาจักรขอมโบราณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐
เมืองอโยชปุระ หรือเมืองอโยธยาโบราณ ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช
เมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระยะาวิเชียรปราการ
เมืองเชียงราย ในสมัยเจ้ามหาพรหม
นครเขลางค์ หรือเมืองลำปาง ระหว่างปี ๑๘๗๙ - พ.ศ. ๒๐๑๑
เมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๑๑ - พ.ศ. ๒๐๙๖ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
เมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ. ๒๐๙๖
เมืองเวียงจันทร์ จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๑
กรุงธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๗
กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๗ จนถึงปัจจุบัน
ด้านหลักฐานทางโบราณคดี ปัจจุบันในภาคเหนือของประเทศไทยยังคงปรากฏร่องรอยในโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตอยู่อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ได้แก่
โบราณสถานวัดพระแก้ว ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เจดีย์โบราณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
เจดีย์หลวง ในวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์โบราณ ในวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
เรื่องตำนานพระแก้วมีหลายฉบับอาจจะผิดพลาดในเรื่องของเวลาและการกำหนดปีพุทธศักราชอยู่บ้าง แต่สิ่งเป็นจริงที่แน่แท้ไม่ผิดเพี้ยนคือปัจจุบันนี้พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยของเรา ที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาติไทยมาช้านาน