สารทเดือนสิบ
การทำบุญเดือนสิบ มิได้มีอยู่ที่ภาคใต้แห่งเดียว หากมีทั่วไปทั่วไปทั้งภูมิภาคในชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น
*- ในภาคอีสาน เรียก บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก
*- ภาคเหนือ เรียก กินก๋วยสลาก หรือทานก๋วยสลาก
*- ภาคกลาง เรียก สลากภัตรและสลากกระยาสารท
*- ในท้องถิ่นภาคใต้มี ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
ภาคใต้ โดยเฉพาะ 'งานเดือนสิบ' ของ นครศรีธรรมราช เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุด และพอจะเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษางานทำบุญเดือนสิบ ประเพณีดังกล่าวทำต่อเนื่องกันมาช้านานตั้งแต่กาลดึกดำบรรพ์ "ทำบุญเดือนสิบ" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชิญผีบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วมากินเลี้ยง แต่ทุกวันนี้มีประเพณีชิงเปรตในเทศกาลวันสารทเดือนสิบ โดยทำร้านจัดหฺมฺรับ คือ สำรับกับข้าว ไปวางไว้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตที่หมายถึงผีบรรพบุรุษ เมื่อวางแล้วก็มีผู้คนทั้งหลายไปแย่งสิ่งของเหล่านั้น จึงเรียกว่า "ชิงเปรต" เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันทั่วไปในภาคใต้ โดยเฉพาะในท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการปฏิบัติประเพณีนี้อย่างจริงจังมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน
-* ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณียิ่งใหญ่ มากในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีขึ้นในวันแรม ๑๓ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนสิบในราวเดือนกันยายน หรือตุลาคมของทุกปี
-* ประเพณีบุญสาารทเดือนสิบเกิดขึ้นด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกับชาวอินเดียที่มีพิธี 'เปตพลี' เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะถูกปล่อยตัวจากยมโลกเพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานในเมืองมนุษย์ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบ และกลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิม ในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ ลูกหลานจึงนำอาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลให้แด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยทำในวันแรก ที่ผู้ล่วงลับมาจากยมโลก คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า 'วันหฺมฺรับเล็ก' และวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับยมโลกดังเดิมคือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า วันหฺมฺรับใหญ่' (คำว่า 'หฺมฺรับ' มาจากคำว่า 'สำรับ' )
-* งานจะเริ่มครึกครื้นตั้งแต่วันแรก ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็น 'วันจ่าย' เนื่องจากชาวเมือง จะหาซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้จัดหฺมฺรับในวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบ 'วันยกหฺมฺรับ' หรือ 'วันรับตายาย' จะ ยกหฺมฺรับไปวัดและนำอาหารและขนม ส่วนหนึ่งวางไว้ตามที่ต่าง เช่น ริมกำแพงวัด โคนต้นไม้ เป็นต้น เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ปราศจากญาติ ระยะหลังมักนิยมสร้างร้านให้ผู้คนนำขนมมาวางรวมกัน ร้านที่สร้างเรียกว่า 'หลาเปรต' (หลา คือ ศาลา)
-* ที่หลาเปรตจะมีสายสินจน์ผูกอยู่เพื่อให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลเพื่อส่งกุศลให้ผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีผู้คน จะแย่งกันไปเอาขนมที่หลาเปรต เรียกว่า 'ชิงเปรต' เพราะมีความเชื่อว่าการกินของที่เหลือจากเซ่นไหว้บรรพชนได้กุศลแรง
ความเป็นมาของงานเทศกาลเดือนสิบ
........“งานเทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการ ซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้น พระภัทรนาวิก จำรูญ(เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้นโดยได้จัดกำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาจัดเป็นงานประจำปี พร้อมทั้งมีการออกร้าน และมหรสพต่างๆโดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ๓ วัน ๓ คืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงานจากสนามหน้าเมืองไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม รวมทั้งได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานไปจากเดิมหลายประการ
ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบของ
........การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตร ชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา
เหตุผลของการจัดหฺมฺรับ
........ปลายเดือนสิบอันเป็นระยะเริ่มฤดูฝน “การอิงศาสภิกษุ” ด้วยพืชผลที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหารคาวหวานสำหรับขบฉันในทันทีที่ขับประเคนนั้น ชาวเมืองมุ่งหมายจะให้เสบียงเลี้ยงสงฆ์ในฤดูกาลอันยากต่อการบิณฑบาต และเพื่อมิให้ฉันทาคติบังเกิดแก่ทั้งสองฝ่าย คือสงฆ์ และศรัทธาถวายพืชผักสดแก่สงฆ์ จึงใช้วิธี “ สลากภัต” คือจัดใส่ภาชนะตกแต่ง เรียกว่า “สำรับ” หรือ “หฺมฺรับ”
“หฺมฺรับ” หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ
........การจัดหฺมฺรับ เป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องถึงเวลากลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลานก็จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่องแล้วบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้บรรพบุรุษ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และความกตัญญู
การปฎิบัติตามประเพณีสารทเดือนสิบ
.......ช่วงของการทำบุญเดือนสิบ จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่อง “หฺมฺรับ” อยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ
วันหฺมฺรับเล็ก ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานจะจัดสำหรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด เป็นการต้อนรับ บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”
วันจ่าย ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนครต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ
วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๔ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้
วันหฺมฺรับใหญ่ หรือ วันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกันก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา
การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเรื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี ๕ อย่าง (บางแห่งมี๖อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน
สัญลักษณ์ของขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ
ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้
ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้
ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน
ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย
ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องปรัดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล แหวน
ลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทนฟูก และหมอน ซึ่งมีในบางท้องถิ่น
การตั้งเปรต
*- ในการทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต”
*- การชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน