สมรภูมิที่ สตาลินกราด ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
ทหารเยอรมันขณะเริ่มยุทธการบาร์บารอสซา(Barbarrossa) เพื่อรุกเข้าสู่ประเทศรัสเซีย โดยไม่คาดว่าความหายนะครั้งยิ่งใหญ่กำลังรออยู่ข้างหน้า
นับแต่เริ่มยุทธการบาร์บาร์รอสซ่า (Barbarrossa) เยอรมันทำการรบอย่างสายฟ้าแลบ ท่ามกลางความตื่นตระหนก และเสียขวัญของกองทัพรัสเซีย เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า เยอรมันจะโจมตีตนเอง กองทัพเยอรมันรุกอย่างรวดเร็ว หน่วยยานเกราะ Panzer เป็นหัวหอกนำ สนับสนุนด้วยหน่วยบิน Luftwaffe ที่ทิ้งระเบิดโจมตีจุดยุทธศาสตร์ และกองกำลังของรัสเซีย หน่วยทหารตามเข้าตีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกๆ มีทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยนับแสน อย่างไรก็ตาม ยิ่งรุกเร็วมากเท่าไร หน่วยส่งกำลังบำรุงและเสบียงของกองทัพเยอรมันก็ยิ่งถูกทิ้งห่างจากแนวหน้ามากขึ้นเท่านั้น
และในที่สุด กองทัพที่ 6 ของเยอรมัยก็รุกเข้าไปจนสุดสายการส่งกำลังบำรุง ณ เมืองเมืองหนึ่ง ริมแม่น้ำวอลก้า เมืองที่มีชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำรัสเซีย โจเซฟ สตาลิน นั่นคือเมือง สตาลินกราด กองทัพที่ 6 ของนายพล ฟอน เปารัส (Paulus) มีเป้าหมายหลักที่สำคัญอยู่ที่เมืองสตาลินกราด โดยมีกองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ของพลเอก แฮร์มนาน์ โฮท (Colonel General Hermann Hoth) กองทัพทั้งสองได้มุ่งหน้าสู่เมืองสตาลินกราดอย่างมั่นคง กวาดล้างกองทัพแดง ของรัสเซียลงอย่างราบคาบ แต่แล้ว ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ก็ได้เข้ามาก้าวก่ายการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการเยอรมัน โดยสั่งการให้ กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 มุ่งหน้าลงใต้สู่คอเคซัส ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่มีค่ามหาศาล เพื่อยึดทรัพยากรดังกล่าว แม้ฝ่ายเสนาธิการจะได้ทัดทานว่า การกำหนดเป้าหมายหลักทางทหารสองแห่งพร้อมๆกัน จะทำให้กำลังที่กำลังรุกไปข้างหน้าเสียสมดุล และขาดความเข็มแข็งที่แท้จริง เนื่องจากจะต้องมีแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน แทนที่จะทุ่มไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ฮิตเลอร์ก็หาได้ฟังคำทัดทานนั้นไม่ กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 จึงถูกแยกออกจากกองทัพที่ 6 และทำให้ กองทัพที่ 6 รุกไปสู่สตาลินกราดได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ฝ่ายรัสเซียมีเวลาในการเตรียมการ และนั่นคือจุดผิดพลาดอันยิ่งใหญ่จุดหนึ่งของเยอรมัน
ครึ่งเดือนต่อมา ฮิตเลอร์เปลี่ยนใจและสั่งการให้กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ซึ่งเป็นกองทัพยานเกราะ กลับไปช่วยกองทัพที่ 6 ของนายพลเปารัส แต่ก็ช้าไป ในวันที่ 9 สิงหาคม 1942 เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายไปๆมาๆ ทำให้กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ของนายพลโฮท ต้องหยุดลงเนื่องจากขาดน้ำมันและอาหาร โดยหยุดอยู่ห่างจากสตาลินกราดเพียง 160 กิโลเมตร ในขณะที่กองทัพที่ 6 ได้ข้ามแม่น้ำดอน (Don) มุ่งเข้าสู่ชานเมืองสตาลินกราด กองทัพที่ 62 และ 64 ของฝ่ายรัสเซียที่อยู่ในเมืองทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น เยอรมันสร้างสนามบิน เพื่อการส่งกำลังบำรุงบริเวณช่องว่างระหว่างแม่น้ำดอน และแม่น้ำวอลก้า (Volga) เพื่อให้กองทัพอากาศที่ 4( Luftflotte 4) สามารถลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยได้สะดวกขึ้น และในวันที่ 2 กันยายน กองทัพที่ 6 และกองทัพแพนเซอร์ที่ 4 จึงสามารถเชื่อมต่อกันได้
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของหน่วยยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ของกองทัพเยอรมัน ในรัสเซีย กำลังยิงต่อสู้กับข้าศึก ทั้งสองฝ่ายมีการปืนใหญ่ต่อสู้รถถังกันอย่างกว้างขวางในการรบที่สตาลินกราด เพราะสภาพสมรภูมิ เป็นการรบในเมือง ทำให้รถถังมีขีดจำกัดในหลายๆ ด้าน และง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อของปืนต่อสู้รถถัง รถถังเพียงคันเดียวที่ถูกยิงขวางถนนกลางเมือง ที่สองข้างทางเป็นซากตึก อาจจะเป็นเหตุให้รถถังที่เหลือไม่สามารถเคลื่อนที่ไปทางอื่นได้ และตกเป็นเหยื่อของปืนใหญ่ที่ซ่อนอยู่ตามซากอาคาร ยุทธวิธีนี้สหรัฐอเมริกามีการศึกษาอย่างมาก ก่อนการเข้ายึดกรุงแบกแดดของอิรัคครั้งล่าสุด ไม่เช่นนั้นแล้ว รถถังนำขบวนเพียงคันเดียวที่ถูกยิงบล็อคขบวนรถถังทั้งหมด บนถนนที่ขนาบไปด้วยอาคารทั้งสองข้าง อาจส่งผลให้รถถังที่เหลือ กลายเป็นเป้านิ่ง (sitting duck) ได้ในที่สุด
การรุกเข้าไปสู่สตาลินกราด กล่าวได้ว่าทุกเมตร ทุกหลา เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างนองเลือด เยอรมันพยายามทำลายตึกรามต่างๆ ด้วยปืนใหญ่และการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน แต่สตาลินกราดเป็นเมืองสมัยใหม่ ตึกต่างๆถูกสร้างอย่างแน่นหนา การโจมตีของเยอรมันจึงเพียงแต่ทำลายรูปทรงอาคารเท่านั้น ตึกต่างๆถูกยุบ ทำลายลงเป็นเสมือนป้อมปราการให้ฝ่ายรัสเซีย ที่ใช้ทุกมุม ทุกซอก ต่อต้านทหารเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการต่อสู้อย่างหนัก เยอรมันก็เข้าถึงใจกลางเมืองได้ และมุ่งหน้าสู่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดหนัก ในวันที่ 29 กันยายน ทหารรัสเซียภายใต้การนำของนายพลชุยคอฟ (Chuikov) ก็เข้าตีตอบโต้ นายพลของรัสเซียอีกคนหนึ่งคือนายพลซูคอฟ (Zhukov) ได้เตรียมกำลังที่สดชื่นและมีจำนวนมหาศาล รอคอยการตีโต้ตอบด้วยเช่นกัน การตีโต้เริ่มขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน กำลังจำนวนมหาศาลของรัสเซียสร้างความประหลาดใจให้กับกองทหารเยอรมันที่อ่อนล้า ภายในเวลาแค่ 24 ชม. กองทหารเยอรมัน และทหารรูเมเนีย ซึ่งร่วมกับทหารเยอรมันในฐานะฝ่ายอักษะ ถูกตีแตกกระจัดกระจายและทำการโอบล้อมทหารเยอรมันจำนวน 270,000 คนให้ตกอยู่ในวงล้อมภายในสตาลินกราด ในขณะที่วงล้อมยังไม่แข็งแรง ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันเสนอให้ฮิตเลอร์ถอนกองทัพที่ 6 ออกจากสตาลินกราด เพื่อจัดแนวใหม่ แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธ พร้อมกับออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันสู้จนคนสุดท้าย นับเป็นความผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง ทหารเยอรมันต่อสู้อย่างสมเกียรติ และห้าวหาญ
นายพลแมนสไตน์ (Erich Von Manstein) ของเยอรมันนำทัพมาช่วย โดยอยู่ห่างจากเมือง 48 กม. และขอให้นายพลเปารัส นำกองทัพที่ 6 ฝ่าออกมา แต่เปารัสปฏิเสธ และขอสู้ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ตอบสนองด้วยการแต่งตั้งเปารัสเป็นจอมพล เพราะยังไม่เคยมีจอมพลของเยอรมันที่ยอมแพ้ข้าศึก ขณะเดียวกันรัสเซียก็เริ่มบีบวงล้อมให้แน่นขึ้น สนามบินซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สามารถส่งกำลังบำรุงให้กองทัพที่ 6 ก็ตกเป็นของรัสเซีย ในวันที่ 25 มกราคม จากวิทยุที่ได้รับรายงานจากสตาลินกราด แสดงให้เห็นว่าทหารรัสเซียกำลังบุกเข้ามาทุกทิศทุกทาง บางส่วนอยู่ที่หน้ากองบัญชาการของจอมพลเปารัส กองทัพน้อยที่ 11 ของเยอรมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 6 พยายามต่อต้านอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เนื่องจากขาดกระสุน และยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น ในที่สุด วันที่ 2 กุมภาพันธ์ จอมพลเปารัสก็สั่งให้ทหารเยอรมันยอมจำนน ทหารเยอรมันกว่า 200,000 คนถูกจับ จำนวนนี้เพียง 5,000 คนที่รอดชีวิตจากค่ายเชลยอันทารุณของรัสเซีย ฮิตเลอร์ ได้รับรู้ถึงรสชาดของความพ่ายแพ้ ความพ่ายแพ้ที่เป็นจุดวกกลับจุดหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่มา:http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:OSRobsm2V18J:www.bloggang.com