ถึงวันนี้แล้ว ป่าอุทยานแห่งชาติเขานัน นครศรีธรรมราช ก็ได้เปิดตัวขึ้นมาในเส้นทางบริเวณยอดเขาหกพู โดยทีมงาน TAZAN ADVENTURE หลังจากที่ได้เข้าไปสำรวจมาหลายครั้ง จนกระทั่งค้นพบเรื่องราวของป่างามในยามต้นฝน ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางเดินทางที่ไม่ยากนัก
ยอดหกพู เป็นยอดเขาที่สลับซับซ้อน เป็นยอดเขาแหลมเชื่อมต่อกันเป็นบริเวณกว้าง ถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบที่แน่นขนัด เมื่อยามฝนโปรยปราย ความชุ่มชื้นบนแผ่นดินได้สร้างชีวิตใหม่เกิดขึ้นมามากมาย พร้อมด้วยความสวยงามที่ซ่อนเร้นป่าทึบ
จุดเริ่มต้นที่เหมืองขาว โดยมีเส้นทางเดินขึ้นไปตามเส้นทางเหมืองที่สูงชันทอดยาวไปยังแนวป่าทึบ ก็ได้สัมผัสความรู้สึกถึงคุณค่าของป่าได้เลย เพราะป่าให้ความร่มรื่น ให้ความใสบริสุทธิ์ของอากาศที่สูดเข้าไป อาการเหนื่อยในช่วงแรกให้หายไป หนทางข้างหน้าก็ไม่สูงชันเท่าไหร่ เหนื่อยก็หยุดพัก อาหารมื้อเที่ยงเราก็อาศัยร่มไม้เป็นเพิงพักชั่วคราว แล้วจึงเดินทางกันต่อไป
เป้าหมายสำคัญที่ในการเดินป่าครั้งนี้ก็เป็นเรื่องทิวทัศน์ และเรื่องพืชพรรณไม้ที่ได้พบว่า เป็นช่วงฤดูของกล้วยไม้ป่าทั้งรองเท้านารีคางกบ สิงใบพัดเหลือง หรือเป็นขนตาสิงโต ยอดหกพูยังเป็นเส้นทางใหม่ในอุทยานแห่งชาติเขานัน
ไต่ระดับความชันไปตามสันเขา ที่เราสังเกตว่าต้นไม้บนสันเขาจะมีลักษณะลำต้นที่เล็กลง ก็ได้พบดอกไม้ขนาดเล็กอย่าง ขนตาสิงโต Bulbophyllum ovatum Seidenf. เป็นกล้วยไม้สกุลสิงโตตัวหนึ่ง
ช่วงบ่ายเราได้เดินทางต่อไปยัง เขาเต่า เพื่อไปยังที่พักที่จุดชมวิวที่สวยงามจุดหนึ่ง แต่ระหว่างทางเราพบกับความสดใสของ สิงโตพัดเหลือง Cirrhopetalum skeateanum ( Ridl.) Garay เป็นกล้วยไม้ยอดฮิตของป่าเขาหลวง หรือป่าใต้อื่นๆ ที่จะผลิบานกันในช่วงนี้
และอีกไม่นานเราก็พบกล้วยไม้เฉพาะถิ่นภาคใต้ อย่าง รองเท้านารีคางกบใต้ Paphiopedilum callosum ( Rchb. F.) Stein ที่ผลิดอกบานอยู่ตามรายทางเดิน ทำให้เราต้องหยุดพักบ่อยครั้ง เพื่อเก็บบันทึกภาพความสดสวยของกล้วยไม้ป่าชนิดนี้
เมื่อเลาะตามลำธารเราก็ได้พบเจอกับ เอื้องดินแมลงปอ Cryptostylis arachnites (Blume ) Hassk. เป็นกล้วยไม้ดินที่ชอบขึ้นในบริเวณที่ชื้นใกล้กับลำธาร ลักษณะสีดอกไม่จัดจ้านทางป่าภูหลวงที่มีสีแดงเข้มกว่า ก่อนถึงที่พักมี เอื้องปากคู้ Liparis bootanensis Griff. เอื้องดินน้อยปากกาง Zeuxine affinis ( Lindl. ) Benth. Ex Hook. F.
ในที่สุดเราก็มาถึงเป้าหมายจุดพักค้างแรมบนยอดเขาที่มีทำเลมองเห็นพระอาทิตย์ตกที่ปลายเขา ซึ่งเป็นลานทุ่งจูด และในบริเวณที่พักก็ยังมรรองเท้านารีคางกบให้เราได้ถ่ายภาพแบบไม่ต้องกังวลใคร เพราะอยู่ในบริเวณที่พักนั่นเอง สำหรับเซียนกล้วยไม้ก็ไม่ได้นิ่งแต่อย่างใด เดินค้าหาจนพบกับ สิงโตม่วง Bulbophyllum tortuosum (Bl.) Lindl. เป็นกล้วยไม้สกุลสิงโตที่ขนาดเล็กมากๆ
วันรุ่งขึ้น ทุกคนก็เดินทางกันต่อไป จนกระทั่งมาพบ สิงโตช่อม่วง Bulbophyllum salaccense Reichb. f. เป็นกล้วยสกุลสิงโตตัวหนึ่งที่หายาก อาจเป็น New Record ที่เซียนกล้วยไม้ได้ให้ข้อสรุปแบบกว้างๆ ก็น่าเป็นพอใจกับการเสริมสร้างและการพัฒนาองค์ความรู้ให้ขยายมากขึ้น
ในที่สุดเราได้มาถึงจุดหมายที่ปลายเขา อันเป็นจุดสูงในกลุ่มยอดเขาหกพู ที่มีสภาพป่าที่มีลักษณะเป็นป่าใส่เสื้อ หากเป็นหน้าฝนน่าจะชุ่มชื้นมากกว่านี้ ทำเลที่พักอยู่ทางตอนล่างของสันเขา
ครั้นถึงยามเช้าตรู่ เราก็พบกับสายหมอกที่โอบโค้งเขา อันเนื่องมาจากสภาพอากาศได้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากว่าในวันฟ้าใสๆ เราสามารถเห็นท้องทะเลอ่าวไทยในบริเวณอ่าวนคร ปลายแหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นทัศนียภาพแห่งขุนเขาที่สวยงาม และถือว่ายอดเขาหกพูนี้จัดเป็นขุนเขาแห่งความงามของมวลดอกไม้ที่มีให้ชื่นชมได้ตลอดฤดูกาล
จบทริปการเดินทางสู่ขุนเขาที่มีนามว่า หกพู ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า เส้นทางสายนี้จะเป็นเส้นทางเดินป่าในป่าใต้ที่ได้รับความนิยมอีกเส้นทางหนึ่ง สามารถเทียบชั้นกับยอดเขาหลวง 1,835 หรือยอดเขาฝามี ได้อย่างสมศักดิ์ศรีทีเดียวเลย