กล่องดนตรี หรือ Music Box ถือเป็นต้นกำเนิดของตู้เพลงแบบหยอดเหรียญ มีต้นกำเนิดมาจากหมู่ระฆังในโบสถ์ที่ใช้สั่นบอกเวลาเป็นเสียงเพลง เริ่มจากปีค.ศ.1796 อองตวน ฟาเวร่ ชาวเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำเทคนิคสร้างเสียงเพลงจากระฆังนี้มาดัดแปลง โดยใช้แท่งโลหะและลูกตุ้มไปติดแทน แล้วเชื่อมโยงด้วยหมุดเหล็ก พัฒนาให้เป็นนาฬิกาเสียงดนตรี จากนั้นในปี 1802 จึงนำผลงานประดิษฐ์ดังกล่าวมาย่อส่วนใส่ลงในกล่องยานัตถุ์ เป็นกล่องยานัตถุ์เพลง (Music snuff box) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของมิวสิค บ๊อกซ์ เป็นต้นมา
ในปีค.ศ.1815 ทั้งกรุงเจนีวาและเมืองสเต-ครัวซ์ กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตกล่องเพลง โดยนายเดวิด เลอคูลเทร ถือเป็นนายช่างคนแรกที่นำโลหะทรงกระบอกมาใช้ตรึงหมุดในกล่องเพลงเป็นคนแรก ทั้งเป็นคนเพิ่มซี่เหล็กทำเสียงดนตรีออกเป็น 5 ซี่ (เหมือนหวี) เพื่อเพิ่มเสียงตัวโน้ตมากขึ้น ขณะเดียวกันพี่น้องตระกูลนิโคล ก่อตั้งโรงงานผลิตกลอ่งดนตรีชื่อ นิโคล-เฟรเรส์ พัฒนาเทคนิคทำกล่องเพลง เช่น ใช้ไม้ผลมาทำเป็นตัวกล่องให้สวยงาม และใช้ตัวควบคุมการทำงานของดนตรี 3 ตัว (ตัวเปลี่ยนเสียงเพลง ตัวเริ่มและหยุดเสียง และตัวหยุดเสียงทันที) นอกจากนี้ยังประดิษฐ์ตัวไขลานติดไว้ที่ด้านซ้ายของกล่อง (บริษัทนี้มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน)
Music Box
ในช่วงค.ศ.1850-1870 ถือเป็นช่วงที่มีการประดิษฐ์กล่องดนตรีที่ประณีตที่สุด ทั้งในด้านเสียงเพลงและตัวกล่อง จากนั้นในช่วง 1880 อุตสาหกรรมการผลิตกระบอกโลหะ (ตัวหมุน) เฟื่องฟูมาก เมื่อกล่องเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลาย คนธรรมดาเดินดินก็ซื้อได้ แต่การผลิตกล่องเพลงมาชะงักราวปี 1910 เมื่อประชาชนหันไปนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เอดิสันประดิษฐ์ขึ้นในปี 1877 จากนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 การประดิษฐ์กล่องเพลงจึงซบเซาไป ในปัจจุบันกล่องเพลงที่มีชื่อเสียงยังคงเป็นของสวิส แต่บริษัทเยอรมันเองก็ไม่น้อยหน้า สามารถครองส่วนแบ่งของตลาดได้มากที่สุด
เพลงที่นิยมใช้ในกล่องเพลง เป็นเพลงคลาสสิค และตอนนี้มีหลายแบบ ทั้งเพลงจากภาพยนตร์ เพลงของวงดนตรีดังๆอย่าง X-Japan ก็ยังมี ถ้าอยากเห็นชัดๆว่ากล่องเพลงทำงานอย่างไร ต้องไปดูอันที่ใช้แก้วเป็นฝาที่มองเห็นกลไกการทำงานภายใน จะเข้าใจได้ดีขึ้น